"กัญชา" ทำพิษกว่าที่คิด สบยช. เตือน ใช้ผิดส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือคนใกล้ชิด
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนการนำ “กัญชา”ไปใช้ในทางที่ผิด ระวังผลต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดอาการทางจิต พร้อมแนะนำผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือคนใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต้องรีบพูดคุย หากมีอาการหลังจากใช้ ให้รีบปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 กัญ ชาและกัญชง ถูกปลดล็อก ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป แต่ในส่วนของสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญ ชา หรือกัญชง ยังเป็นยาเสพติดในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2 % เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชที่ปลูกภายในประเทศ
เนื่องจาก สาร THC เป็นสารเสพติด หากใช้ขนาดสูงเป็นประจำจะทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาด เพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดได้ นอกจากนี้ ยังห้ามนำเข้าพืชกัญ ชาและกัญชง ยกเว้นเมล็ดพันธุ์ ซึ่งหลังจากนี้ อาจทำให้กลุ่มวัยรุ่นรวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ บางกลุ่มอาจมีการนำกัญ ชาไปใช้ในทางที่ผิดเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
การออกฤทธิ์ของกัญ ชา
- ในระยะแรกจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้ตื่นตัว ตื่นเต้น ร่าเริง หัวเราะง่าย ช่างพูด พูดคนเดียว ยิ้มคนเดียว ไม่หลับไม่นอน
- เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 ชั่วโมง จะเริ่มออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มีอาการคล้ายกับเมาเหล้า หน้าแดง ลิ้นไก่พันกัน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เซื่องซึม ง่วงนอนตลอดเวลา ถ้าใช้ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้
- เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้ใช้ มีอารมณ์อ่อนไหว เลื่อนลอย สมองสั่งงานช้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ใจสั่น หูแว่ว
ดังนั้น ผู้ใช้ จึงไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
บุคคลที่ห้ามใช้
- ในกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี กลุ่มผู้สูงอายุควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรงหรือไม่สามารถควบคุมอาการได้
- ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช รวมถึงสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่ากัญ ชาจะมีประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์ รวมไปถึงการนำสาระสำคัญไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง สมุนไพรและอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งปลูก เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เหมือนพืชสมุนไพรประจำบ้าน นำมารักษาสุขภาพตนเองและครอบครัว สร้างรายได้กับผู้ปลูก
แต่หากมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ทำให้อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ร่างกายเสื่อมโทรม ไม่สามารถทำงานได้ ความคิดและการตัดสินใจเสื่อมถอย นอกจากนี้ ยังทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ที่ใช้ในปริมาณมาก อาจจะทำให้เป็นโรคจิต เกิดอาการ วิตกกังวล หวาดระแวง เลื่อนลอย สับสน ฟั่นเฟือน ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
เตือนพ่อแม่ ผู้ปกครอง หมั่นสังเกตุพฤติกรรมของบุตรหลาน และคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการนำไปใช้ในทางที่ผิดให้รีบพูดคุย บอกกล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายที่จะตามมา รวมถึงปัญหาการเสพติด ให้รีบพาไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)
กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา
- โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
- หรือขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง