15 มิถุนายน 2565 ที่รัฐสภา นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับของ ปชป. อภิปรายชี้แจงหลักการ และเหตุผล ว่า แม้ชื่อที่ปกของเราจะเหมือน ครม. แต่เนื้อหา หลักคิดต่างกันสิ้นเชิง ร่าง ครม.โดยกระทรวงยุติธรรม มองว่า คู่สมรสจะต้องเป็นระหว่างชายหญิงเท่านั้น เพราะเป็นหลักธรรมชาติ การแต่งงานของเพศอื่นแล้วถูกมองเป็นเพียงคู่ชีวิต มองว่าเขาไม่ปกติ ไม่แปลกว่า ทำไมเพื่อนๆ LGBTQ+ ถึงต่อต้าน เพราะมองเขาเป็นพลเมืองชั้นสอง ไปเที่ยวกำหนดว่า ชาย-หญิงต้องเป็นคู่สมรส ชาย-ชาย ต้องเป็นคู่ชีวิต แต่ถ้าทอม จะคบกับเกย์ ก็ไปบังคับให้เป็นคู่สมรส กระทรวงยุติธรรมเป็นใครกันครับที่จะมีสิทธิ์มากำหนดรูปแบบชีวิตของพวกเขา แต่ปชป. มองว่า กฎหมายที่ดีต้องเปลี่ยนทันโลก ศึกษาผลกระทบรอบด้านหากเกี่ยวพันกฎหมายอื่นหลายฉบับ คู่ชีวิตสำหรับเรา ต้องเปิดให้คนทุกเพศ ไม่ใช่เฉพาะเพศเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมอาจมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตคือ ของขวัญสำหรับพลเมืองชั้นสองสำหรับคนเพศเดียวกัน แต่ร่างปชป. คือ ทางเลือกของทุกคู่ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชาย-ชาย หญิง-หญิง รวมทั้ง ชาย-หญิง ที่ต้องการมีสิทธิ์เลือกระดับความสัมพันธ์ของตนเอง ซึ่ง มาตรา 3 ร่างปชป. ต่างจาก มาตรา 3 ร่างครม.อย่างสิ้นเชิง คำนิยามคู่ชีวิตของ ครม.เขียนว่า “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด ซึ่งได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพ.ร.บ.นี้ ส่วน ของปชป.เราให้นิยามคำว่า “คู่ชีวิต” คือ บุคคลสองคน ไม่ว่าเพศใดจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศกันสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ตามพ.ร.บ.นี้
"อิสระ" ชง ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับปชป. ไม่เเบ่งเเยกพลเมืองชั้นสอง-มองคนเท่ากัน ทุกเพศ ไม่ว่า ชาย-ชาย หญิง-หญิง หรือ ชาย-หญิง ต้องมีสิทธิ์เลือกได้
ข่าวที่น่าสนใจ
นายอิสระ กล่าวว่า อยากเสนอให้ใช้ร่างของปชป.เป็นร่างหลัก ด้วยเหตุผลสำคัญ อาทิ มิติการพัฒนาการของความสัมพันธ์ และพัฒนาครอบครัว ธรรมชาติของการสร้างครอบครัวที่ดี ไม่ได้เกิดจากเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น สาเหตุที่เราต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถูกนำมาใช้ก่อน ก็เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการทดลองผ่านการใช้งานจริง ศึกษาจากของจริง ไม่ใช่เพียงศึกษาผ่านห้องทำงานของกฤษฎีกา เราต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการซื้อเวลาของผู้มีอำนาจ ที่มักจะบอกว่า จะขอกลับศึกษาผลกระทบก่อน เปลี่ยนมาเป็น การประกาศใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เป็นเหมือนก้าวย่างสำคัญของการยอมรับเรื่องนี้ แล้วเราจะได้รู้ว่า ผลกระทบที่หลายฝ่ายพูดกันว่ามันมี มันมีอย่างไร แล้วจะแก้ที่ตรงไหน เพื่อจะนำไปสู่การพิจารณาสมรสเท่าเทียมอย่างจริงจังและจริงใจ ต่อไป ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับที่ตน และปชป.เสนอนั้น เป็นกฎหมายที่มองคนเท่ากันและให้โอกาสแก่ทุกคน ทุกเพศ สามารถเลือกระดับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับชีวิตตัวเองได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นความหวังของทุกคู่ชีวิต
นายอิสระ กล่าวว่า ถามว่า แล้วทำไมต้องมี พ.ร.บ. คู่ชีวิต ทำไมไม่ให้สมรสเท่าเทียมเลย ก็เพราะประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา ตนไม่ได้เป็นการเอาศาสนามาอ้าง แต่ขอพูดให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ที่บอกว่าแตกต่างทางศาสนาสำหรับ 3 ศาสนาหลัก พุทธ คริสต์ อิสลาม ในศาสนาพุทธ พิธีสมรสทางศาสนาจัดทำขึ้นเพื่อความสิริมงคล แต่ไม่ใช่ภาคบังคับ ขณะที่ศาสนาคริสต์ กับอิสลาม การสมรสเกิดขึ้นต่อเมื่อมีการประกอบพิธีทางศาสนา ดังนั้น การแก้ไขเฉพาะประมวลแพ่งและพาณิชย์ให้เกิดการสมรมเท่าเทียมอย่างเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการบังคับให้ผู้นำทางศาสนา เขาจำเป็นที่จะต้องประกอบพิธีสมรสให้กับคนทุกเพศ จริงอยู่ว่าเป็นสิทธิของคนเหล่านั้น แต่ก็เป็นการบังคับให้ผู้นำทางศาสนา ทำสิ่งที่ผิดกับหลักคำสอนของศาสนาของเขา แล้วสิ่งที่ตนพูด ตนไม่ได้พูดเองแต่มาจากการรับฟังผู้นำทางศาสนา โดยศาสนิกชน ทั้งสองศาสนา นี้ก็เป็นคนไทย เสียงเขาก็ควรจะมีความหมายด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง