นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ชี้แจงถึงการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกว่า องค์การเภสัชกรรมได้ทำงานเชิงรุกมาตลอดโดยมีการติดต่อเจรจาการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกโดยเฉพาะโมเดอร์นาได้ประสานโดยตรงกับสหรัฐ ไปตั้งแต่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งล่าสุด โมเดอร์นา สหรัฐ ตอบกลับมาว่า เนื่องจากมีความต้องการวัคซีนเป็นจำนวนมากจึงทำให้วัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละประเทศ
แต่ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทย ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนแล้ว รวมถึงประสานกับหน่วยงานงบประมาณแต่เนื่องจากในสัญญาการสั่งซื้อวัคซีนจำนวนมากถึง 20 ล้านโดส จำเป็นจะต้องมีความรอบคอบในเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งบริษัทผู้ผลิตระบุเงื่อนไขในสัญญากับผู้ซื้อทั่วโลกว่า จะต้องมีการวางเงินจองวัคซีนโดยจ่ายเงินล่วงหน้ารวมถึงหากไม่มีการส่งตามกำหนดเวลาสัญญาก็จะต้องไม่มีค่าปรับ เป็นต้น ทำให้องค์การเภสัชกรรมต้องศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เนื่องจากรัฐบาลและศบค.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ทั้งนี้เหตุผลที่ล่าช้าเนื่องจากงบประมาณของภาครัฐไม่ได้ถูกจัดสรรมาให้องค์การเภสัชกรรม จึงจำเป็นต้องใช้งบประมาณจากโรงพยาบาลเอกชนที่รวบรวมเงินมัดจำการจองวัคซีนพร้อมข้อมูลผู้จอง ส่งมาให้องค์การเภสัชกรรมก่อน ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะมีการเจรจาและเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ องค์การเภสัชกรรมได้ทำสัญญาไว้รออยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 บริษัทโมเดอร์นาแจ้งว่าอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทซีลลิค เป็นผู้จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวและหวังว่าจะสรุปสัญญากับบริษัท ซิลลิค ให้เร็วที่สุด แต่ล่าสุด 15 พฤษภาคม 2564 โมเดอร์นาแจ้งว่าการจัดซื้อวัคซีนต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ก็คือองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรมจะสั่งซื้อและนำมามอบให้ โรงพยาบาลเอกชนอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นภาครัฐจึงไม่มีการจัดสรรงบประมาณ จึงต้องทำงานร่วมกันกับโรงพยาบาลเอกชนกว่า 300 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่ขณะนี้มีความต้องการวัคซีนมากถึง 9 ล้านโดสในขณะที่การสั่งซื้อในปีนี้ได้เพียง 4 ล้านโดสและในปีหน้าอีก 1 ล้านโดสรวมเป็น 5 ล้านโดส
โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นา ยืนยันการส่งมอบสามารถส่งให้ไทยได้ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้หรือไตรมาสที่ 1ของปีหน้า จึงขอให้ประชาชนเข้าใจถึงกระบวนการ นี่คือเหตุผลว่าทำไมองค์การเภสัชถึงยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาเพราะระหว่างนี้ต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมข้อมูลการจองและเงินจากการจองวัคซีนมาก่อนที่จะเซ็นสัญญา หากจะให้องค์การเภสัชไปเซ็นสัญญาก่อนไม่สามารถทำได้เพราะรับผิดชอบไม่ไหว เนื่องจากราคาที่แพงและมีจำนวนมาก เมื่อได้รับเงินจากโรงพยาบาลเอกชนแล้วองค์การเภสัชกรรมจะได้ดำเนินการเซ็นสัญญากับบริษัทซีลลิค ในต้นเดือนหน้า
ส่วนความคืบหน้าล่าสุด ของการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์นั้น ในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค.นี้ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบตรวจสอบเงื่อนไขสัญญาการสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ ได้ตรวจสอบเงื่อนไขของสัญญาเรียบร้อยแล้วและนำส่งมายังรัฐบาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยจะต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่6 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะลงนามสั่งซื้ออย่างเป็นทางการได้ และองค์การเภสัชกรรมจะเร่งดำเนินการเจรจาเพื่อให้การส่งมอบเร็วขึ้น เนื่องจากพบว่ามีความต้องการของประชาชนที่สูงมากเช่นกัน