วันที่3 ก.ค. 2564 นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยกับ TOPNEWS ว่า ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ผ่อนคลาย ให้ทำงานก่อสร้างบางประเภทได้ ทั้งนี้ ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตจากสำนักการโยธา หรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้าง เฉพาะที่เข้าหลักเกณฑ์ เป็นรายกรณี
การผ่อนผัน งานส่วนใหญ่ก็ยังถูกปิดอยู่ อย่างงานอาคารที่ไม่ได้มีเรื่องของความปลอดภัย หรือว่างานโครงการจัดสรรก็ยังถูกปิดอยู่ จริงๆ งานก่อสร้างมีหลายประเภทมาก อันนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องขออนุมัติจากสำนักงานโยธาฯ เพื่อให้พิจารณา ทีนี้อันไหนที่ทำงานได้ก็ทำไป ทั้งนี้ เวลาทำงานเราก็ขอให้ผู้ประกอบการเคร่งครัดต่อมาตรการป้องกันโควิดให้มาก ทำ bubble and seal อย่างเคร่งครัด อย่างเช่น ออกจากไซส์ไปแคมป์ จากแคมป์กลับไซส์เลย โดยไม่อนุญาตให้แวะที่ไหน และไม่อนุญาตให้เดินออกมาปะปนซื้อของวุ่นวายกับคนภายนอก สำหรับงานที่ยังทำไม่ได้ ก็จะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาตามที่กระทรวงแรงงานได้บอกไว้ นอกจากนี้ยังมีพวกถุงยังชีพ อาหาร ที่สมาคมฯ และกระทรวงแรงงาน กำลังจัดทำขึ้น
วานนี้(2 ก.ค.64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามอนุมัติตามที่ศปก.ศบค. เสนอขออนุมัติให้กรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย กำหนดแนวทางและมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตการก่อสร้างเฉพาะที่มีเหตุจำเป็น และการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
โดยที่ประชุม ศปก.ศบค. เห็นชอบผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภทตามที่กทม. เสนอ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้าง ที่แรงงานก่อสร้างได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้ว และให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างเฉพาะที่เข้าหลักเกณฑ์ เป็นรายกรณี
สำหรับโครงการก่อสร้างบางประเภท ที่ได้รับการผ่อนคลาย ได้แก่
- โครงการก่อสร้าง ซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันที หรือการดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดิน ที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูนปิดล้อม หรือการก่อสร้างอื่นๆ
- การก่อสร้างโครงสร้างชั่วคราว ซึ่งการหยุดก่อสร้างในทันที หรือดำเนินการล่าช้า จะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมา หรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้าง เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูนโดยเฉพาะแผ่นพื้น
- การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบร์ริเออร์กั้นช่องการจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร
- การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
ส่วนกรณีการก่อสร้างขนาดเล็ก ซึ่งไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนด(ฉบับที่ 25) หากผู้ว่าราชการ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่า หากปล่อยให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปอาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ให้ผู้ว่าราชการ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณามีคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง หรือหยุดการก่อสร้างนั้น ตามหน้าที่และอำนาจในข้อกำหนด(ฉบับที่ 24)
นางสาวลิซ่า กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้าง ยังมีประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 คือ การบริหารสัญญา การขยายอายุสัญญา ซึ่งต้องหารือระหว่างเอกชนกับเอกชน และเอกชนกับรัฐบาล โดยในส่วนของเอกชน เชื่อว่าเจ้าของโครงการฝั่งเอกชนคงจะเข้าใจ เพราะเห็นปัญหาอยู่ว่ามีคำสั่งไม่ให้ทำงาน และงานที่ทำได้จะไม่กี่ประเภทที่เป็นงานที่จำเป็น ในส่วนงานที่เซ็นสัญญากับภาครัฐ ต้องหารือกับภาครัฐถึงหลักการ วิธีการขยายสัญญา ต้องทำยังไง เพราะตั้งแต่โควิดระลอก 1 และ 2 มีการขอขยายอายุสัญญาไป แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ กล่าวถึงเรื่องที่อยากจะฝากถึงรัฐบาล ได้แก่
- การบริหารสัญญา การถืออายุสัญญาทั้งหลาย ที่หลายครั้งติดปัญหาเรื่องกฎหมาย คือ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง
- การขอวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาคมฯ ไปติดตามต่อจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งทราบว่ากระทรวงแรงงานได้มีการประสานขอวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่ทราบจำนวน ว่าได้เท่าไร
- การนำแรงงานเข้าระบบ ขณะนี้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับการช่วยเหลือแล้ว แต่ยังมีแรงงานอีก 3 ประเภท ที่อยู่นอกเหนือจากประกันสังคม ที่สมาคมฯพยายามจะขอให้ผู้ประกอบการ เอาเข้าสู่ระบบประกันสังคม ประกอบด้วย
– แรงงานที่ยังทำงานไม่ครบ 6 เดือน มีแรงงานบางกลุ่มที่ยังเข้าในระบบประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน หรือบางกลุ่มเพิ่งจะเอาเข้าระบบ ซึ่งตอนนี้ถ้าจะทำต้องเสียค่าปรับ สมาคมฯ ต้องหารือว่ากระทรวงแรงงานจะสามารถลดค่าปรับได้หรือไม่ เพื่อนำคนมาเข้าระบบ
– แรงงานต่างด้าว ที่อยู่ได้ตามมติครม. เมื่อเดือนธ.ค.63 คือยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน อย่างชัดเจน อันนี้ก็ต้องหารือต่อ ว่ากลุ่มนี้จะได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง
– แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งต้องคุยนโยบายกับภาครัฐ ว่าจะทำให้ถูกต้องได้อย่างไร
ทั้งนี้ นางสาวลิซ่า กล่าวด้วยว่า หากต้องเสียค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ก็คิดว่าผู้ประกอบการอาจจะไม่พร้อมในส่วนนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้แรงงานกลับบ้านต่างจังหวัด จึงพยายามที่จะนำแรงงานเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ได้รับเงินเยียวยา หากไม่ได้รับเงินเยียวยาคิดว่าแรงงานคงกลับบ้านแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อครบ 15 วัน และจะมีการประเมินสถานการณ์การปิดแคมป์คนงาน และไซส์งานก่อสร้าง คาดว่าจะได้รับการผ่อนคลายทั้งระบบหรือไม่ นางสาวลิซ่า กล่าวว่า ต้องรอประเมิน ซึ่งคิดว่าขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการทุกคนด้วยว่า เราจะร่วมใจกันปฏิบัติตามมาตรการได้ขนาดไหน และลดจำนวนผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ก่อสร้างได้ขนาดไหน ถ้าเกิดเราไปขอรัฐบาลผ่อนผันอย่างเดียว แต่ทางเราเองไม่ได้ทำอะไรที่จะทำให้เกิดการยอมรับก็ยาก เพราะตัวเลขก็ปรากฎอยู่ ว่า มันขึ้นหรือลง