"พลาสติกรีไซเคิล" สำหรับใส่อาหาร ราชกิจจานุเบกษาประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อก สามารถใช้ได้แล้ว
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์เผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 235) พ.ศ. 2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก โดยระบุว่า ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ หมายความว่า ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกแปรใช้ใหม่ (Recycled Plastic) จาก 3 กระบวนการ คือ
1. การแปรใช้ใหม่แบบปฐมภูมิ (Primary Recycling: Pre-Consumer Scrap)
- หมายถึง การแปรรูปชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติก (Scrap) ภายในโรงงาน ซึ่งเหลือจากกระบวนการผลิตภาชนะบรรจุอาหาร เพื่อนำมาหมุนเวียนกลับมาผลิตใหม่
- โดยชิ้นส่วนพลาสติกหรือเศษพลาสติกดังกล่าว ต้องไม่เคยใช้สัมผัสอาหารมาก่อน
2. การแปรใช้ใหม่แบบทุติยภูมิ (Secondary Recycling: Physical Reprocessing: Mechanical Recycling)
- หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วด้วยวิธีทางกายภาพ รวมทั้งวิธีทางกล เช่น การนำพลาสติกมาบด ล้าง และอาจใช้สารเคมีในการปรับปรุงคุณภาพแล้วหลอมอัดเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อใช้ทำเป็นภาชนะบรรจุ
- ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องไม่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของพอลิเมอร์เปลี่ยนแปลง
- โดยพลาสติกรีไซเคิลตามกระบวนทุติยภูมินั้น จะต้องเป็นชนิดพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene terephthalate; PET) ที่มีคุณภาพหรือมาตรฐานระดับการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) และต้องส่งมอบรายงานผลการประเมินความปลอดภัยจากหน่วยประเมินความปลอดภัยตามที่สำนักงาน อย. กำหนด
- หรือทำขึ้นจากเม็ดพลาสติกแปรใช้ใหม่ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
3. การแปรใช้ใหม่แบบตติยภูมิ (Tertiary Recycling: Chemical Reprocessing)
- หมายถึง การแปรรูปภาชนะพลาสติกที่ผ่านการบรรจุอาหารแล้วให้กลับไปอยู่ในรูปของวัสดุตั้งต้น โดยใช้กระบวนการทางเคมี
อย่างไรก็ตาม เพื่อสะอาดและความปลอดภัย ประกาศกระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้นำพลาสติกที่เคยใช้บรรจุหรือหุ้มห่อปุ๋ย วัตถุมีพิษ หรือวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหาร
เช็ครายละเอียดเพิ่มเติม : คลิกที่นี่
ข้อมูล : ratchakitcha
ข่าวที่เกี่ยวข้อง