ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ทำหนังสือยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เนื่องจากมองว่าเป็นญัตติเถื่อน เพราะเช้าวันที่ 15 มิ.ย. ในญัตติยังไม่มีการแก้ไขรายชื่อผู้ถูกอภิปรายเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงเที่ยง นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยังแถลงว่าจะยื่นอภิปรายรัฐมนตรี 10 คน แต่พอช่วงบ่ายวันเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน นำตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัติติต่อประธานสภาฯ ปรากฏว่ามีจำนวนผู้ถูกอภิปรายเพิ่มขึ้นจาก 10 คน มาเป็น 11 คน โดยตั้งข้อสังเกตว่า ส.ส.ฝ่ายค้านที่ลงชื่อในญัตติ ได้ตามมาเซ็นญัตติทันหรือไม่ และรับรู้หรือไม่ว่าได้เพิ่มจำนวนผู้ถูกอภิปรายจาก 10 คน เป็น 11 คน
ในเวลาต่อมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ในประเด็นดังกล่าว เมื่อแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า ญัตติของฝ่ายค้านก่อนลงนาม มีสองฉบับ คือ ฉบับไม่ไว้วางใจ รมว. 10 คน กับ ฉบับไม่ไว้วางใจ รมว. 11 คน และทั้งสองฉบับ ลงวันที่ 15 มิ.ย. เหมือนกัน ญัตติที่ลงวันที่เดียวกันจึงเป็นพิรุธน่าสงสัย เพราะนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ไว้ส่วนหนึ่งว่า… เมื่อเราเขียนญัตติเสร็จวันที่ 14 มิ.ย. รายชื่อของ นายสุชาติ ยังไม่ได้เข้าไป บางพรรคก็เซ็นชื่อวันที่ 14 มิ.ย. และในวันที่ 15 มิ.ย. ก็มีการเก็บตกลายเซ็น ส.ส.ที่ต้องเข้าชื่ออีกครั้ง ในช่วงเวลา 11.00 น. ยังมีการแก้ไขญัตติอยู่ ก่อนที่จะยื่นญัตติต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 13.00 น.
“ซึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของนายชลน่าน ดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า ญัตติที่มีการเขียนเสร็จเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. แล้วก็ให้บางพรรคเซ็นชื่อในวันเดียวกันนั้น ยังไม่มีรายชื่อนายสุชาติ ดังนั้นคำพูดของนายชลน่าน ที่ระบุว่า… “และในวันที่ 15 มิ.ย. ก็มีการเก็บตกลายเซ็น ส.ส. ที่ต้องเข้ามาอีกครั้ง ในช่วงเวลา 11.00 น.” ….. จึงทำให้เข้าใจได้ว่า การเก็บตกลายเซ็น ส.ส. ดังกล่าวนั้น เป็นการลงนามตามญัตติที่ทำเสร็จเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ซึ่งไม่มีชื่อนายสุชาติ