วันที่ 21 มิ.ย.65.-การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีวาระสำคัญเตรียมเสนอให้กับที่ประชุมพิจารณา “มาตรการลดค่าครองชีพ” รอบใหม่ และแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันแพง หลังจากในช่วงสัปดาห์ก่อน นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือและได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวแล้ว
การประชุมครม. วันนี้ เตรียมเคาะ “มาตรการลดค่าครองชีพ” รอบใหม่ และแนวทางการช่วยบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง ทั้งการต่ออายุมาตรการเดิม และเพิ่มมาตรการใหม่
ข่าวที่น่าสนใจ
สำหรับมาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ที่จะเสนอให้ครม.พิจารณานั้น เบื้องต้นมี การต่อมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดอายุในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2565 ซึ่งเดิมมีอยู่ 10 มาตรการ แต่ในการต่ออายุอาจนำเสนอเข้ามาเพียงบางมาตรการเท่านั้น และบางมาตรการอาจไม่ทำต่อ เช่น การลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมทั้งยังมีมาตรการใหม่เสนอเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า มาตรการต่าง ๆ จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนมาตรการเดิมหมดอายุ กำหนดระยะเวลาการทำโครงการเอาไว้ รวมระยะเวลา 3 เดือน กรกฎาคม – กันยายน 2565 มีรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ แยกเป็นดังนี้
สำหรับมาตรการต่ออายุมาตรการเดิม คือ การตรึงราคาค่าก๊าซ NGV สำหรับแท็กซี่ การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบกการให้ส่วนลดค่า FT ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย (กำลังพิจารณา)
ส่วนมาตรการใหม่ ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565 คาดว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนได้ประมาณเดือนละ 6,000 – 7,000 ล้านบาท แยกเป็น กลุ่มน้ำมันดีเซล จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 5,000 – 6,000 ล้านบาท จะขอความร่วมมือให้ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุน กลุ่มน้ำมันเบนซิน จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท มาลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันที คาดว่าจะสามารถลดราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มได้ประมาณลิตรละ 1 บาท ขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซที่มีต้นทุน LPG ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีกำไรส่วนเกิน ซึ่งจะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนอีกเดือนละ 1,500 ล้านบาทสนับสนุนการท่องเที่ยว เอกชนนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน ในเมืองหลักหักภาษีได้ 1.5 เท่า เมืองรองหักภาษีได้ 2 เท่า (ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-