จับตาศึกซักฟอก “ธนารักษ์” ดื้อเซ็นสัญญาท่อน้ำEEC ไม่รอคำพิพากษา

จับตาศึกซักฟอก "ธนารักษ์" ดื้อเซ็นสัญญาท่อน้ำEEC ไม่รอคำพิพากษา

ติดตามต่อเนื่องกับประเด็นปัญหาการประมูล ท่อส่งน้ำอีอีซี มูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้าน ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 หลังจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ กรมธนารักษ์ พิจารณาผลคะแนนประมูล แล้วปรากฎว่า บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้คะแนน 173.83 คะแนน และ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้คะแนน 170.10 คะแนน

แต่ปรากฎว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ กรมธนารักษ์ กลับเรียกประชุมพิจารณา ลงมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ให้ยกเลิกการประมูล พร้อมการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลสำคัญ ๆ ก่อนสรุปผลว่า บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลรอบที่สอง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564 จนเกิดการฟ้องร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง และหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่าง ป.ป.ช. มาจนถึงทุกวันนี้

ขณะเดียวกันในทางการเมือง ประเด็นเรื่องการประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี มีกระแสมาโดยตลอด ว่าจะเป็นหัวข้อหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยล่าสุด นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุถึงกรณีการเตรียมประเด็นการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ว่า สำหรับรายละเอียดของการอภิปรายครั้งนี้ ตนจะอภิปรายรัฐมนตรีคนไหน และประเด็นใดบ้างนั้น ขออนุญาตยังไม่ให้สัมภาษณ์สื่อในขณะนี้

เพราะเพิ่งทราบจากว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือขอให้ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ดำเนินการลงนามยืนยันความถูกต้องของญัตติที่เสนอมาอีกครั้ง ก่อนส่งกลับให้ภายในวานนี้ ( 21 มิ.ย.) ทำให้ตนต้องดำเนินการเรื่องให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน จากนั้นจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกครั้ง เพราะตอนนี้มีขั้นตอนส่งญัตติกลับมาให้แก้ไข หากตนไปพูดอะไรไปก่อนเกรงว่าจะผิดขั้นตอนได้ และ พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมเพื่อวางตัวผู้อภิปราย และขั้นตอนการแบ่งกรอบเวลาการอภิปรายกันของส.ส.ภายในพรรค

แม้ว่าที่ผ่านมาประเด็นเรื่องการประมูลท่อส่งน้ำ EEC ได้รับการยืนยันว่า จะเป็นหัวข้อหนึ่งในการซักฟอก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบ การประปาส่วนภูมิภาค และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.กระทรวงการคลัง ในฐานะทำหน้าที่เป็นประธานประชุมบอร์ดที่ราชพัสดุ

และด้วยสถานการณ์ปัญหา ซึ่งกำลังบานปลายจากขั้นตอนการตัดสินใจของกรมธนารักษ์ และบอร์ดที่ราชพัสดุ ไปสู่การใช้เป็นประเด็นซักฟอก ทำให้ต้องพิจารณาแต่ละขั้นตอนปัญหานี้อีกครั้งอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเกิดค่าโง่เหมือนบางโครงการที่ภาครัฐในอดีตดำเนินการแล้ว ต้องกลับมาเป็นภาระให้รัฐบาลปัจจุบันต้องรับผิดชอบ อย่างกรณีโครงการทางด่วน ที่โดนฟ้องร้อง จนภาครัฐต้องยอมขยายสัมปทานให้กับภาคเอกชน หรือ กรณี โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ระหว่างต่อสู้คดี ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ว่า กระทรวงคมนาคม ต้องจ่ายค่าก่อสร้างโครงการ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมประมาณ 24,798 ล้านบาท ให้กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือไม่

โดยประเด็นสำคัญ ๆ ที่ต้องพิจารณาก็คือ 1. ข้อความในหนังสือของศาลปกครอง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 แจ้งชัดเจนต่อผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ให้พึงพิจารณาร่วมกัน โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้อง หรือ บริษัทอีสท์วอเตอร์ ขอให้เพิกถอนมติ หรือ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า / บริหารระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564

แต่ในระหว่างการพิจารณาคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอในโครงการที่พิพาทครั้งใหม่ ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ซึ่งปัจจุบันได้มีการพิจารณาผู้ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดแล้ว

กรณีนี้หากการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย

เนื่องจากมาตรา 119 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บัญญัติให้การฟ้องคดีไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จึงย่อมทำให้การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกครั้งแรก

ประกอบกับโครงการพิพาทมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอและทันต่อการณ์ โดยบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคตะวันออก

ดังนี้ หากการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริการสาธารณะด้านการให้บริการสาธารณูปโภค

ศาลจึงมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543

 

ข่าวที่น่าสนใจ

** ประเด็นนี้มีจุดสำคัญ คือ เป็นข้อควรพิจารณาว่า กรมธนารักษ์ รวมถึง บอร์ดที่ราชพัสดุ มีความจำเป็นจะต้องเสี่ยงให้เกิดปัญหา นำไปสู่การฟ้องร้องค่าเสียหายหรือค่าโง่ โดยการไม่รอคำพิพากษา แล้วเร่งเดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด หรือไม่ ***

 

2.กรณีปัญหาจากการที่ บอร์ดที่ราชพัสดุ มีการประชุมเพื่อลงมติถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก ( 11 ก.พ. 2565 ) เสียงข้างมาก 6 ต่อ 4 เห็นชอบให้รอคำพิพากษาก่อนเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ก่อนที่จะมีการลงมติอีกครั้ง ( 14 มี.ค. 2565) โดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ให้ดำเนินการทันที โดยไม่รอคำพิพากษา จนเป็นเหตุ พล.อ.ประยุท ธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการตรวจสอบ ทุกประเด็นข้อสงสัย

และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 883/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ประกอบด้วย

1.นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการ

2.นายปิยกร อภิบาลศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รองประธานกรรมการ

3.นายวิรัช เกตุนวม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมธนารักษ์ กรรมการ

4.นายดนัย วิจารณ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรบุคคล กรมธนารักษ์ กรรมการ

5.นายศุภชัย ตั้งวัฒนากร ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีการสำรวจและฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กรรมการ

6.นายชรินทร เข็มราช นิติกรชำนาญการพิเศษ กรรมการ

7.นายอาทร ยงกิตติธรากุล เจ้าหน้าที่จัดผลประโยชน์ชำนาญการพิเศษ กรรมการและเลขานุการ

8.นายพัฒน์พงษ์ อินทร์มั่น เจ้าหน้าที่จัดผลประโยชน์ ชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยเลขานุการ

9.นายสยาม โพธิ์เกิด นายช่างสำรวจอาวุโส ผู้ช่วยเลขานุการ

10.นายนพดล ธรรมโม นิติกรชำนาญการ ผู้ช่วยเลขานุการ

*** ** ประเด็นสำคัญ คือ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ จากคนในกระทรวงฯ โดยมีรายชื่อข้าราชการการจากกรมธนารักษ์ นั่งเป็นกรรมการด้วยนั้น ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

โดย นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ความเห็นว่า เปรียบเสมือนการลูบหน้าปะจมูก แม้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ตนมองว่าไม่มีความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง โดยควรที่จะแต่งตั้งบุคคลที่เป็นกลางเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ มิฉะนั้นแล้ว หากขาดความน่าเชื่อถือ ก็เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่จบ อาจกลายเป็นมหากาพย์ได้

พร้อมเสนอด้วยว่า คณะกรรมการชุดนี้ ควรมีตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ตัวแทนจากสภาวิศวกรรมสถานฯ องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เข้ามาเป็นหนึ่ง ในคณะกรรมการ เพื่อความเชื่อถือและเชื่อมั่นของสังคม ว่า จะไม่มีการเอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมไปถึงการอยู่ภายใต้อำนาจการสั่งการของใคร

ส่วน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่ากระทรวงการคลังกำลังเล่นละครตบตาประชาชน กำลังปาหี่ เป็นมวยล้มต้มคนดู เนื่องจากนายวิจักษณ์ เป็นแค่ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ขณะที่ประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุคือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ” ท่อส่งน้ำอีอีซีมูลค่า 25,000 ล้านบาท ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังมาสอบรัฐมนตรีช่วยฯ ใครจะกล้าสอบ “

และมีประเด็นสำคัญว่า คณะกรรมการคัดเลือกให้ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ชนะการประมูลในรอบที่ 2 ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการในกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ ประกอบด้วย

1.นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ (ในขณะนั้น) ประธานคณะกรรมการ
2.นางวรนุช ภู่อิ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ( ในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลัง)
3.นายโอภาษ วโรภาษ อัยการพิเศษฝ่ายสัญญาและหารือ 1 (ในฐานะผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด)
4.นายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้ทรงคุณวุฒิ
5.นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ
6.นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ด้านที่พัสดุ เป็นกรรมการและเลขานุการ
7.นายธีรพงค์ สุขช่วย ผู้อำนวยการกองบริหารที่ราชพัสดุภูมิภาค ผู้ช่วยเลขานุการ

 

และอาจเป็นเหตุทำให้ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ต้องตัดสินใจขยายเวลาการสอบถึง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกครบกำหนด 30 วัน จากการนำส่งผลสอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 แต่ปรากฎว่า นายอาคม มีคำสั่งให้ขยายเวลาสอบเพิ่มอีก 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2565 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 3 ก.ค. 2565

3.บทสรุปการเดินหน้าเซ็นสัญญากับบริษัทเอกชนรายใหม่ จะเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายของกรมธนารักษ์ หรือไม่ หลังจากครบกำหนดการตรวจสอบรอบที่ 2 ของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ด้วยเหตุผลสำคัญ เมื่อพิจารณาจาก แนวคิดการประมูลท่อส่งน้ำ อาจขัดต่อมติครม.ปี 2535 เพราะมีรายละเอียดชี้ชัดให้การประปาส่วนภูมิภาค ตั้ง อีสต์ วอร์เตอร์ รับผิดชอบ ดำเนินการ บริหารน้ำเพื่อภาคประชาชนและนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่ค้ากำไรเกินควร แต่ปรากฎว่าหลักการประมูลของกรมธนารักษ์ ที่เปลี่ยนแปลงใหม่ ให้น้ำหนักกับเริ่องผลตอบแทนสูงกับภาครัฐเป็นสำคัญ

โดยตามสัญญาสัมปทานเดิม บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสท์ วอเตอร์ คือ ผู้รับผิดชอบโครงการ ในกรอบระยะเวลาโครงการ 30 ปี หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึง 31 ธันวาคม 2566 ทำหน้าที่สำคัญ ภายใต้ความรับผิดชอบการพัฒนาและจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และ ระยอง ซึ่งมีความสำคัญโดยตรงต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC

ทางด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ข้อมูลย้ำว่า มติครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2535 ระบุ ครม.เป็นผู้อนุมัติให้มีการก่อตั้ง บริษัท อีสท์วอเตอร์ ขึ้นมา โดยให้การประปาส่วนภูมิภาค เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด และให้โอนสิทธิหรือเช่าบริหารทรัพย์สินจากหน่วยงานต่างๆ มาให้บริษัทดังกล่าวดูแล เช่น ท่อส่งน้ำดอกกราย-มาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย , ท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ของกรมโยธาธิการฯ , ท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ของกรมชลประทาน เป็นต้น

โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ ปริมาณน้ำดิบที่ต้องจัดสรรนั้น ควรให้ความสำคัญกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นอันดับแรก, การกำหนดอัตราค่าน้ำ ควรกำหนดในอัตราที่เหมาะสม ไม่ควรมุ่งค้ากำไรเกินควร และการจัดสรรน้ำควรจ่ายให้แก่อุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตการนิคมฯมากกว่าที่อยู่นอกเขตฯ

จึงมองว่า การเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่งทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐมาตั้งแต่ต้น โดยนำมาแสวงหากำไรและผลประโยชน์ให้เอกชนเข้าประมูล อาจขัดหรือแย้งต่อมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ อีกทั้งอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนนำทรัพย์สินของรัฐไปแสวงหากำไรและผลประโยชน์โดยมิชอบ อันอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 อีกด้วย

เนื่องจากพบข้อพิรุธหลายประการ ทั้งการเปิดประมูล 2 ครั้ง ว่า โดยครั้งแรกพบว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด แต่คณะกรรมการกลับมีมติยกเลิกการประมูลดังกล่าวและให้ประมูลใหม่ โดยอ้างว่า TOR ที่คณะกรรมการคัดเลือกมีมติรับรองแล้วนั้นไม่ชัดเจน ทั้งๆที่คณะกรรมการคัดเลือกเป็นผู้กำหนดและพิจารณามีมติรับรองมาแล้วก่อนที่จะให้เอกชนเสนอรายละเอียดเข้าร่วมประมูล

ต่อมามีการเปิดประมูลครั้งที่ 2 ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี เอาชนะ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

 

ทั้งนี้ TOP NEWS เคยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี ศาลปกครอง ได้ใจความสำคัญว่า การยื่นฟ้องคดี ของศาลปกครอง ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ วิธีการพิจารณาคดีปกครอง ทั้ง 3 ศาล จะไม่มีการกำหนดระยะเวลา เพราะเป็นความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ส่วนศาลปกครอง จะกำหนดประเภทของคดี กรณีที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ ก็จะกำหนดเรื่องความเร่งด่วนในคดีเข้าไป เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบต่อสาธารณะ ศาลต้องพิจารณาคดีโดยเร็ว แต่ไม่ได้มีกำหนดกรอบเวลาชัดเจน ว่ากี่วันหรือกี่เดือน

ส่วนกรณีถ้าสำนวนคดียังอยู่ในศาล และยังไม่มีคำตัดสินออกมา ผู้ถูกร้องสามารถดำเนินการใดๆ ต่อไปได้ หรือไม่ มีข้อเท็จจริงประกอบว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ยกเลิกเพิกถอน ต้องถือว่าคำสั่งหรือกฎ หรือการกระทำนั้น ยังชอบด้วยกฎหมายอยู่ อันนี้เป็นหลักการของกฎหมายปกครอง คำสั่งหรือกฎที่ออกมาแล้ว ถ้าไม่มีการยกเลิกเพิกถอนโดยหน่วยงานหรือโดยศาล กฎหรือคำสั่งนั้นก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่

หรือ กรณีที่คดียังอยู่ในศาลปกครองกลาง และไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาออกมา และหากผู้ถูกร้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ถ้าเป็นการฟ้องเพื่อขอเพิกถอนกฎหรือคำสั่ง ส่วนใหญ่จะรอคำพิพากษาตัดสินออกมาก่อน ถ้าศาลพิพากษาออกมาอย่างไร ผลก็คือเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทันที ไม่ต้องมีการบังคับ แต่ส่วนใหญ่ที่หน่วยงานจะเทคแอคชั่นคือ การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าเป็นเรื่งอคดีฟ้องขอให้ชดใช้เงิน บางทีหน่วยงานไม่กล้าตัดสินใจ ก็จะรอผลคำพิพากษาออกมา หรือคดีสัญญาทางปกครอง ถ้าท้ายที่สุดศาลพิพากษาให้หน่วยงานจ่ายเงินตามสัญญา จึงจะปฏิบัติตามคำพิพากษา

หรือถ้ามีคำพิพากษา ออกมา โดยหลักต้องรอบังคับตามคำพิพากษา ในกรณีถ้าไม่มีคนอุทธรณ์ก็ดี แต่มีการยื่นอุทธรณ์แล้วศาลปกครองสูงสุดพิจารณา ให้รอการบังคับจนกว่าศาลปกครองจะตัดสิน สรุป ถ้ามีคำพิพากษาออกมาแล้วให้รอการบังคับไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด (ถ้าศาลปกครองสูงสุดรับอุทธรณ์ การรอผลต้องไปรอผลศาลปกครองสูงสุดตัดสินหรือมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด) แต่ทั้งนี้การดำเนินการของผู้ถูกฟ้อง ต้องดูแต่ละประเภทคดี ต้องดูข้อเท็จจริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น