"สำลัก" หรือภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น แพทย์แนะแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน วิธีที่ถูกต้อง มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เช็คเลย
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การสำลัก คือ อาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคอหรือหลอดลม และกีดขวางช่องทางการหายใจ ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
มักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบค้นคว้า ทดลองด้วยตนเอง จึงมักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในช่องต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะช่องทางเดินหายใจ ได้แก่ รูจมูกและปาก ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบสมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่ให้ละเอียดเพียงพอ จึงอาจเกิดการสำลักระหว่างรับประทานอาหารและวิ่งเล่นไปด้วย
ส่วนในวัยผู้ใหญ่มักเกิดจากเศษอาหาร การดื่มน้ำเร็วเกินไป หรือการทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างในขณะรับประทานอาหาร เช่น พูด หัวเราะ เป็นต้น บางครั้งฟันปลอมที่ยึดติดไม่แน่นพอ อาจเลื่อนหลุดเข้าไปในช่องคอหรือหลอดลม และกีดขวางช่องทางการหายใจ หรือทางเดินอาหารโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉินทางเดินหายใจอุดกั้นในเด็กเล็กและผู้สูงอายุอาจทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจาก อาการที่เกิดขึ้นจะสังเกตได้ยากและไม่ชัดเจน
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เผยวิธีสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้
- หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการหายใจแรงและเสียงดังผิดปกติ
- ไม่สามารถกลืนได้หรือใช้เวลานานกว่าปกติ
- พูดคุยตอบสนองไม่ได้
- ไอแรง ๆ ไม่ได้
- ผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บเริ่มเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ เนื่องจาก ขาดออกซิเจน
- ขาดสติ ไม่รู้สึกตัว
กลุ่มเสี่ยงต่อการสำลัก ได้แก่
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีประวัติผ่าตัดบริเวณคอหอย เช่น ผ่าตัดโคนลิ้น ผ่าตัดมะเร็งคอหอย ผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียง
- ผู้ที่มีความผิดปกติระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะกลืนลำบาก
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณใบหน้าและลำคอ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสง ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ปลอกประสาทอักเสบ บาดเจ็บไขสันหลัง
- ผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึก
- ผู้ที่มีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือการได้รับยาคลายเครียด เป็นต้น
วิธีป้องกันในเด็ก
- เลือกชนิดและขนาดของของเล่นให้เหมาะสมแก่เด็กในวัยต่าง ๆ
- หั่นอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการกลืน
- ไม่ควรป้อนอาหารเด็กในขณะที่กำลังวิ่งเล่นอยู่
วิธีป้องกันในผู้ใหญ่
- สำหรับผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้ “สำลัก” ง่าย
- ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการกลืนควรปรึกษาแพทย์เพื่อฝึกการกลืน
- รีบรักษาเมื่อมีปัญหาเรื่องไอหรือเสมหะ
- นอกจากนี้ ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
- หลีกเลี่ยงการคุยหรือหัวเราะขณะรับประทานอาหาร
นอกจากนี้ แพทย์หญิงสมจินต์ จินดาวิจักษณ์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ยังได้เผยวิธีช่วยเหลือเบื้องต้น โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับเด็กเล็ก
- เด็กทุกกลุ่มอายุที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจไม่เต็มที่ ยังหายใจได้เอง พูดได้ แนะนำให้ไอแรง ๆ เพื่อให้วัตถุแปลกปลอมหลุดออกมา
- ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้จับเด็กนอนคว่ำหน้าขนานกับต้นขาและประคองหัวเด็กไว้ จากนั้นใช้สันมือตบเข้าไปแรง ๆ 5 ครั้ง ระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง
- ตรวจดูในปากว่ามีอะไรอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้รีบใช้ปลายนิ้วหยิบออก ไม่แนะนำให้ใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เนื่องจาก อาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น
- หากการช่วยเหลือด้วยการตบหลังยังไม่สามารถนำเอาสิ่งแปลกปลอมที่ขวางทางเดินหายใจออกได้ ให้ใช้วิธีกดที่หน้าอกของเด็ก ด้วยการจับให้เด็กนอนหงายหน้าขึ้นขนานกับต้นขา จากนั้นใช้นิ้ว 2 นิ้วกดลงไปตรงกลางใต้ราวนมของเด็ก 5 ครั้ง ตรวจดูภายในปากว่ามีอะไรหลุดออกมาหรือไม่ แล้วหยิบออกอย่างระมัดระวัง
- หากช่วยเหลือด้วยวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล โดยระหว่างที่รอรถพยาบาลมาถึงนั้นให้ช่วยเหลือด้วยการตบหลังและกดหน้าอกสลับกัน จนกว่าสิ่งที่เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจจะหลุดออกมาหรือรถพยาบาลมาถึง หากเด็กไม่หายใจให้เริ่มทำการกดหน้าอกหรือปั๊มหัวใจด้วยวิธีสำหรับเด็ก ซึ่งอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาได้
วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นในเด็กโตที่มีอายุมากกว่า 1 ปี และผู้ใหญ่
- แจ้งให้ผู้สำ ลักทราบว่าจะทำการช่วยเหลือ
- ยืนซ้อนด้านหลังผู้สำ ลัก ประคองโน้มตัวไปด้านหน้า แล้วกดกระแทกที่ท้อง 5 ครั้ง โดยใช้แขนทั้ง 2 ข้าง โอบแนบกับผู้ที่สำ ลักเหนือสะดือ แต่ให้ต่ำกว่าระดับหน้าอก แล้วกำมือเป็นกำปั้น จากนั้นให้ดึงกระแทกกำปั้นเข้าหาตัวและขึ้นทางด้านบนอย่างเร็วและแรง ห้ามใช้วิธีการกระแทกที่ท้องกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
- หากยังมีอาการอยู่ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล ระหว่างที่รอรถพยาบาลให้กระแทกที่ท้องซ้ำจนกว่าสิ่งที่แปลกปลอมที่ติดอยู่จะหลุดออกมา หรือจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง
- กรณีหมดสติไป ให้ตรวจดูว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ หากไม่หายใจ ให้ประคองผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นราบและเริ่มทำการกดหน้าอกหรือปั๊มหัวใจ ซึ่งการปั๊มหัวใจนั้นอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ การสำ ลัก อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การบาดเจ็บที่คอ หรืออาการระคายเคือง แต่หากสำ ลักวัตถุขนาดใหญ่ และเกิดการอุดกั้นหลอดลม อาจเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง