บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด บันทึกความร่วมมือทางวิชาการระบบทวิภาคี กับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ต่อยอด “โครงการสัตหีบโมเดล “ สร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด ภายใต้บริบทร่วมรับผิดชอบ ระดมมันสมองชั้นครู นำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พัฒนาการศึกษา แบบเข้มข้น ให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน และภาคธุรกิจ สนองนโยบายการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชลบุรี มุ่งเน้นนักเรียนนักศึกษาเรียนจบต้องมีวินัย เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม ประกอบอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เลี้ยงชีพ
ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาองค์กร การพัฒนาประเทศชาติ และโลกใบนี้ ก็คือ ทรัพยากรมนุษย์ วิทยาลัยแห่งนี้จึงได้ตระหนักในเรื่องการพัฒนา จัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล แบบยั่งยืน และพร้อมที่จะเป็นสถานศึกษาต้นแบบา โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมกำหนด และร่วมกันรับผิดชอบ ในรูปแบบทวิภาคี ภายใต้”โครงการสัตหีบโมเดล” โดยคณะครูทุกท่านของวิทยาลัยแห่งนี้ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ จึงร่วมกันทุ่มเท แรงกาย แรงใจมุ่งเน้นในการเพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถให้นักเรียนนักศึกษาทุกระดับ ให้มีความรู้ ทักษะ พฤติกรรมการทำงาน ให้ตรงกับคุณลักษณะนิสัยอุตสาหกรรม ต้องเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และเพื่อให้สอดรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศในเขตอาเซียนต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ดร.อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรีย ได้ตระหนัก มุ่งเน้น ให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการร่วมกันพัฒนา ต่อยอดการศึกษา ให้เท่าทันความเจริญ ตลอดจนการรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ จึงได้เพิ่มความร่วมมือกับภาคเอกชนดำเนินการทดลองจัดรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ ซึ่งสามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อการยกระดับคุณภาพการอาชีวศึกษาได้ จึงได้พัฒนาหลักสูตรให้เข้มข้นมากขึ้น โดยใช้ชื่อโครงการ “สัตหีบโมเดล”ใช้ระยะเวลาการเรียนเป็นตัวกำหนดโครงสร้างหลักสูตร และใช้ค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจให้กับนักเรียนนักศึกษา เพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถ ประสบการณ์ เพื่อสนองนโยบายการปฏิรูปการศึกษาเมื่อจบการศึกษาต้องมีงานทำของจังหวัดชลบุรี ระยอง และพื้นที่ใกล้เคียง
นางอรทัย ยังได้กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันได้มีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสัตหีบโมเดล จำนวน 14 บริษัทแต่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้รับแรงงานที่ตอบโจทย์ ตรงตามเป้าประสงค์ เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ คุณธรรม จริยธรรม มีวินัย มีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีมนุษย์สัมพันธ์อันดี ตลอดจนมีจิตสำนึกที่ดีในการช่วยกันผลักดันองค์กรให้มีคุณภาพ เป็นที่ไว้วางใจของสังคม จึงได้มอบทุนการศึกษาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งล่าสุด บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี(ประเทศไทย)จำกัด โดย Mr. Vinko Saric FTM Plant Manager ได้ทำสัญญาสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)ให้กับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เพื่อพิจารณาคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในโครงการพัฒนาช่างเมคคาทรอนิกส์ ให้มีคุณภาพมากขึ้น และทางด้าน นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการบริษัทฯ ฟอร์ด เชลล์ แอนด์ เซอร์วิส(ประเทศไทย) จำกัด ได้ต่อสัญญาสนับสนุนทุนการศึกษา จำนวนเงิน 1.000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)ให้กับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบพิจารณาคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในโครงการเพื่อให้ความรู้ ฝึกฝน สร้างสมประสบการณ์สาขาช่างเมคคาทรอนิกส์ และช่างยนต์ ให้ตรงเป้าประสงค์ของโรงงาน ตลอดจนศูนย์บริการฟอร์ดได้อย่างมีคุณภาพ
ท้ายสุด ดร.อรทัยฯได้กล่าวอีกว่า นับเป็นความโชคดีของสถานศึกษา และนักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ที่มีภาคเอกชนจำนวนมาก เข้ามามีส่วนร่วมในแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสนับสนุนการศึกษา การดูแลนักศึกษาร่วมกัน พัฒนาหลักสูตรและจัดทำแผนการเรียนร่วมกัน จัดการศึกษาทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ล้วนแล้วเป็นโอกาสดีในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครอง เมื่อจบการศึกษาไปแล้วมีงานรองรับ มีรายได้อย่างมั่นคง เพียงนักเรียนนักศึกษาในโครงการที่ได้รับคัดเลือกในการสนับสนุนทุนการศึกษาจากภาคเอกชนจะต้องมีวินัย มีคุณธรรมประจำใจ มุ่งมั่นศึกษา หาความรู้ให้ตรงตามเป้าประสงค์ของผู้ให้ด้วย ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ ทางด้านนายถิรวุฒิ สายสุพัฒน์ผล ผู้บริหารฟอร์ด ชลบุรี ท็อปคาร์(พัทยา และ นายชัยยง พะเนียงทอง รองกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด เอกกรุ๊ป ร่วมลงนามสนับสนุนโครงการนี้ด้วย
พัชรพล ปานรักษ์ / ณัฐภูมินทร์ ปานรักษ์ ผู้สื่อข่าวTOPNEWS ประจำ จ.ชลบุรี