รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มศิษย์เก่าซึ่งส่วนใหญ่ยังมีความรัก และความผูกพันต่อมหาวิทยาลัยอย่างไม่เสื่อมคลายว่า มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์จะเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยจากเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองมาเป็นเพลง มอญดูดาว จริงหรือ? ที่มีคำถามเช่นนี้ก็เพราะมีการส่งภาพที่มีลักษณะเป็นโปสเตอร์ที่มีข้อความด้านบนตัวเล็กๆว่า “พคธ. เสนอ” ถัดลงมาด้านล่างเป็นข้อความซึ่งเป็นหัวเรื่องตัวใหญ่ๆว่า ” เปลี่ยน! เพลงประจำมหาวิทยาลัยฯ ใช้เพลง “มอญดูดาว” แทนเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” ภาพนี้ถูกส่งต่อๆกันใน social media อย่างกว้างขวาง จนคนที่ไม่ตั้งใจอ่านให้ละเอียด เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยไปแล้วจริงๆ
รศ.หริรักษ์ ยัน มธ.ไม่เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” เป็น “มอญดูดาว” แทน แฉเป็นการหาเสียงของพรรคคนธรรมศาสตร์ หรือ พคธ. หรือ โดมปฏิวัติเดิม ชี้ไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายต้องผ่านสภามหาวิทยาลัยด้วย
ข่าวที่น่าสนใจ
เรื่องที่ส่งต่อกันต่อมายิ่งตอกย้ำความเข้าใจดังกล่าวให้ฝังแน่นยิ่งขึ้นอีก เพราะเป็นการส่ง กำหนดการงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ กำหนดการดังกล่าวไม่มีการระบุว่าจะมีเพลงพระราชทานยูงทองตอนเปิดงาน แต่กลับมีการขับร้องเพลง มอญดูดาว และมาร์ช มธก. แทน เมื่อเห็นเช่นนี้ บรรดาศิษย์เก่ารุ่นอาวุโสจำนวนมากจึงสอบถามกันให้วุ่นไปหมด หลายท่านก็เข้าใจว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยจาก เพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทองไปเป็นเพลงมอญดูดาว ไปแล้วจริงๆ
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้พยายามหาข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และได้ข้อสรุปดังนี้ครับ
1. ช่วงนี้เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังมีการเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือ นายกฯอมธ. พรรคคนธรรมศาสตร์ หรือ พคธ. ซึ่งคือพรรคโดมปฏิวัติเดิม และส่งผู้สมัคร ได้รณรงค์หาเสียงว่าจะขอให้เปลี่ยนแปลงเพลงประจำมหาวิทยาลัย จากเพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง มาเป็นเพลง มอญดูดาว ซึ่งข้อมูลจริงคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้มีความประสงค์จะทำตามข้อเสนอของ พคธ. แต่อย่างใด และการเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัย ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเช่นนี้ หากจะเปลี่ยนจริงๆ ควรต้องนำเสนอสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่ใช่ไปทำประชามติแล้วเปลี่ยนได้เลย และการจะทำประชามติหรือไม่ก็ควรเป็นการตัดสินใจของสภามหาวิทยาลัย หากนักศึกษาไปทำกันเองจะไม่มีผลผูกพันต่อมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
2. งานวันสถาปนามหาวิทยาลัย เป็นงานของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดงาน ไม่ใช่นักศึกษาเป็นผู้จัด กำหนดการของงาน มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดทำ ต่อคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงไม่ใช้เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองเป็นเพลงเปิดงาน มหาวิทยาลัยมีคำอธิบายว่า ขั้นตอนของการเปิดงานจะมีการเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองก่อน ต่อจากนั้นจะเป็นรายการขับร้องเพลง มอญดุดาว และ เพลงมาร์ชมธก โดยนักศึกษา ซึ่งเข้าใจว่าเป็นกลุ่ม TU Chorus แต่ในกำหนดการจะไม่ระบุว่า เปิดเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง เพียงระบุใน script งานเท่านั้น และยังบอกว่า ทำเหมือนกันเช่นนี้มาทุกปี
3. ในปีนี้ เนื่องจากมีคำถามเรื่องนี้มากหลังจากกำหนดการงานได้มีการเผยแพร่ออกไป อีกทั้งยังมีคนทักท้วงซึ่งเข้าใจว่า ผู้ทักท้วงคือ สมาคมธรรมศาสตร์ จึงได้ทำการเปลี่ยนแปลงกำหนดการใหม่ โดยระบุขั้นตอนของการเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทองลงไป และเพื่อให้ไม่เข้าใจสับสน จึงย้ายรายการขับร้องเพลงลงไปอยู่ตอนสุดท้ายของพิธี และปิดงานด้วยการเปิดเพลงยูงทองอีกครั้ง
นี้คือคำอธิบายจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และขอให้ท่านที่เข้าใจผิดไปแล้วโปรดให้โอกาสมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ซึ่งความจริงเพลง มอญดูดาว ก็เป็นเสมือนหนึ่งเพลงประจำมหาวิทยาลัยอย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว และเป็นเพลงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมหาวิทยาลัย และในหลายๆงานของธรรมศาสตร์ก็มีการเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ต่อด้วยเพลงมอญดูดาว หรือเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง แต่มีการขับร้องเพลงมอญดูดาว ดังเช่นในงานสถาปนามหาวิทยาลัยปีนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า การเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ และเชื่อว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามที่นักศึกษา พคธ. เสนออย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-