กว่า ๗๖ ปีที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ตั้งแต่ ๖ เม.ย.๒๔๘๙ โดยควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ ๔ ที่เป็นนายกฯ ๔ สมัย และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรก จวบจนถึงวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้สถาปนาตัวเองเป็นสถาบันการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านมรสุมมามากมาย จนมาถึงยุคที่มี “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ ๘ โดยขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ภายหลัง “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ ๒๔ มี.ค.๒๕๖๒ พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ย่อยยับได้ส.ส.ทั่วประเทศแค่ ๕๓ คน แบ่งเป็นส.ส.เขต ๓๓ คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๒๐ คน ได้คะแนนจากทั่วประเทศไปเพียง ๓,๙๖๐,๑๒๘ คะแนน จำนวนส.ส.ในแต่ละภาคลดวูบลงไปแบบน่าใจหาย ภาคกลาง ๘ คน อีสาน ๒ คน เหนือ ๑ คน ภาคใต้แม้จะเป็นแชมป์แต่ก็ได้ส.ส.ไปแค่ ๒๒ คน (จากทั้งหมด ๕๐ คน) ที่สลดใจสุดๆคือในกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นขวัญใจคนกรุงกลับสูญพันธุ์ไม่ได้ส.ส.แม้แต่คนเดียวจาก ๓๐ เขตในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความนิยมในตัวอภิสิทธิ์ลดลงความเชื่อมั่นในพรรคประชาธิปัตย์ตกวูบ ส่วนสำคัญมาจากกรณีที่อภิสิทธิ์ประกาศหัวเด็ดตีนขาดยังไงก็จะไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ไปสนับสนุนผู้นำที่เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พรรคพลังประชารัฐชูเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพราะความเจ้าหลักการไม่ยอมใครดังกล่าวจึงทำให้อภิสิทธิ์พ่ายแพ้ย่อยยับ
นำมาสู่การไขก๊อกแสดงความรับผิดชอบของอภิสิทธิ์แบบไฟท์บังคับ ก่อนจะมีการสรรหาตัวผู้นำคนใหม่ในวันที่ ๑๕ พ.ค.๒๕๖๒ โดยมีผู้สมัครขันอาสา ๔ คน ได้แก่ จุรินทร์ , กรณ์ จาติกวณิช , พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค , และ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผลการเลือกปรากฎว่าจุรินทร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากนายหัวชวน หลีกภัย เพราะเป็นขั้วอำนาจสายใต้เหมือนกัน แถมได้พลังหนุนจากอภิสิทธิ์ที่แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจจะหนุนกรณ์ แต่ก็กลัวเสียงจะกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกและอาจทำให้พีระพันธุ์ที่ประกาศตัวจะพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ ที่สุดอภิสิทธิ์จึงเลือกเทกรณ์ก่อนแหกโค้งไปเปย์คะแนนให้จุรินทร์ จนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ผลจากการห่ำหั่นกันดังกล่าวทำให้ภายในพรรคประชาธิปัตย์แตกกันย่อยยับ หลังจุรินทร์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคก็มีการสับเปลี่ยนขั้วอำนาจกันใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ มีการดันเฉลิมชัย ศรีอ่อน เจ้าพ่อสามอ่าวแห่งประจวบฯ ขึ้นมาเป็นแม่บ้านพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หลังคลื่นลมในพรรคสงบ จุรินทร์นำพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรัฐนาวาประยุทธ์เทอม ๒ ได้แบ่งเค้กโควตารัฐมนตรีมา ๗ คน ๘ ตำแหน่ง มีการจัดสรรปันส่วนกันครบ ๑.ตัวเองเป็นรองนายกฯควบรมว.พาณิชย์ ๒.เฉลิมชัยเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ ๓. จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ๔.สาธิต ปิตุเตชะ เป็นรมช.สาธารณสุข ๕.ถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ๖.นิพนธ์ บุญญามณี เป็นรมช.มหาดไทย ๗.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เป็นรมช.ศึกษาธิการ
คนชนะได้ปูนบำเหน็จ ส่วนคนพ่ายแพ้ฝ่ายตรงข้ามพวกเห็นต่างก็ต้องเดินหันหลังระเห็จออกจากพรรคไปตามระเบียบ แกนนำระดับหัวกะทิหลายคนเมื่อเห็นว่าน่าจะหมดอนาคตในพรรคหมดหนทางไปต่อต่างก็ทยอยลาออกจากพรรค พระแม่ธรณีบีบมวยผมเลือดไหลไม่หยุด กรณ์หนีบอรรถวิชช์ สุวรรณภักดีลาออกไปตั้งพรรคกล้าสานฝันพรรคเล็กแต่เสียงดัง หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม หนีออกมาตั้งพรรคไทยภักดีชูแนวทางปกป้องชาติพิทักษ์สถาบัน พีระพันธุ์เดินจากพรรคไปเงียบๆก่อนจะถูกบิ๊กตู่ดึงมาช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาลให้ช่วยแก้ไขปัญหาสารพัดเรื่อง อาทิ การบินไทย ชำระกฎหมาย ฯลฯ จากวันนั้นจนวันนี้กว่า ๓ ปีเศษที่จุรินทร์นั่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผลงานในตำแหน่งก็เป็นไปตามเนื้อผ้าปรากฏเป็นข่าวอย่างที่เห็น เรื่องดีก็มีเยอะให้ชื่นชม ส่งออกดี ขายของได้ แต่เม็ดเงินถึงมือชาวบ้านและเกษตรกรจริงๆหรือป่าวต้องไปว่ากันอีกที แต่ที่ถูกท้วงติงถูกด่าก็มีมากช่วงหลักหนักๆที่โดนโจมตีก็คือเรื่องปล่อยให้ข้าวของแพงแบบไม่เห็นใจหัวอกชาวบ้านตาดำๆเลย ก่อนหน้านั้นก็เรื่องหมูแพง ต่อด้วย ไก่แพง ไข่แพง ปุ๋ยแพง น้ำมันแพง ฯลฯ เรียกว่าแพงสารพัดสิ่ง ย้อนอดีตไปก่อนนั้นช่วงโควิด-๑๙ ระบาดหนักๆ ก็โดนโจมตีเรื่องหน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK นอกจากแพงแล้วยังไม่พอให้คนไทยใช้หนีตายอีก ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆผลงานก็สอบผ่านแบบที่ไม่มีอะไรโดดเด่นให้เห็นชัด อภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ปี ๒๕๖๕ เสนาบดีพรรคสีฟ้าโดนแจ็กพ็อต ๓ คน ประกอบด้วย จุรินทร์ที่น่าจะโดนเรื่องของแพงเป็นหลัก นิพนธ์คงโดนเรื่องเก่าสมัยเป็นนายกฯอบจ.สงขลา และ จุติที่น่าจะตกเป็นเป้าเพราะไปออกกฎหมายคุมเอ็นจีโอ
เรื่องฝีไม้ลายมือของจุรินทร์และทีมงานรัฐมนตรีชุดนี้เป็นอย่างไรก็แล้วแต่มุมมองความคิดความเชื่อฐานข้อมูลของแต่ละคนอันไหนดีแย่ก็ว่ากันไป แต่เรื่องภายในบ้านข่าวคราวภายในพรรค ต้องบอกว่ายุคหัวหน้าจุรินทร์ ๓ ปีเศษ คงไม่ใช่แค่เลือดไหลแต่ต้องใช้คำว่าโลหิตทะลัก เพราะมือดีหัวกะทิทยอยออกจากพรรคหลายสิบคน ไล่เรียงกันไม่หมด นอกจาก กรณ์ พีระพันธุ์ หมอวรงค์แล้ว พวกหัวเหนียวหน้าสังขยาที่จำใจทิ้งพรรคไปแบบคนเชียร์พรรคเสียดายแปลบ เพราะหาคนเก่ง คนดี คนมีความรู้แบบนี้ยากก็มีเพียบอาทิ สมชัย ศรีสุทธิยากร, พริษฐ์ วัชรสินธุ, กษิต ภิรมย์, กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ,วิฑูรย์ นามบุตร ,นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ,ถาวร เสนเนียม , ถวิล ไพรสณฑ์,สุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ ,ไพร พัฒโน , เอกณัฏ พร้อมพันธุ์, อภิชัย เตชะอุบล ,วิทยา แก้วภราดัย ฯลฯ พวกที่ออกจากพรรคเพราะอุดมการณ์ต่างกันเห็นผิดเป็นชอบเห็นฟ้าเป็นแดง มาอยู่แว่บๆแล้วออกไปอันนั้นพอเข้าใจได้ว่าไม่ได้ซึบซับรับวัฒนธรรมอะไร แต่ที่อยู่มาเป็นปีอยู่มาเป็นชาติรากแก้วงอกแล้วต้องถอนตัวเองจากไป เพราะหัวหน้าไม่เป็นธรรมเพราะเล่นพรรคเล่นพวกเพราะไร้ธรรมนำหน้า ต้องไปพึ่งใบบุญพรรคอื่นต้องไปตายเอาดาบหน้าต้องไปหาที่อยู่ใหม่อันนี้น่าเห็นใจ
ล่าสุดหลังเหตุการณ์ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ก่อเรื่องราวฉาวโฉ่งามไส้พรรคส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์เจอมรสุมโหมกระหน่ำไปหลายลูก แต่ในเรื่องร้ายๆก็มีเรื่องดีพอให้พูดถึงอยู่บ้าง โดยเฉพาะการกวาดเก้าอี้เลือกตั้งซ่อม ๓ เขต ใน ๓ จังหวัดของพรรคประชาธิปัตย์ “ต๊าส” อิสรพงษ์ มากอำไพ หลานชาย “ลูกหมี” ชุมพล จุลใส คว้าส.ส.เขต ๑ ชุมพร ด้วยคะแนน ๔๙,๐๑๔ คะแนน ขณะที่ “น้ำหอม” สุภาพร กำเนิดผล ภรรยาคนสวยของ “นายกฯชาย”เดชอิศม์ ขาวทอง คนโตสงขลารองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คว้าเก้าอี้ผู้แทนเขต ๖ สงขลาไปครอง ด้วยคะแนน ๔๕,๕๗๖ คะแนน ล่าสุดที่ราชบุรีเขต ๔ “สจ.เซ้ง” ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ก็คว้าโควต้าอีกตัวให้พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ก่อนหน้านี้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คนของพรรคอย่าง “ดร.เอ้” สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ ๒ ด้วยคะแนน ๒๕๔,๗๒๓ คะแนน แม้คะแนนจะห่างจากผู้ว่าฯชัชชาติล้านกว่าคะแนน ขณะที่ผลสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.)ได้มา ๙ คนจาก ๕๐ เขต ในช่วงพรรคตกต่ำการได้มาเท่านี้ก็ถือว่าพอรับได้ยังมีอนาคตอยู่
อนาคตพรรคประชาธิปัตย์คงยากแล้วที่ลมจะพัดหวนไปเหมือนเดิม โดยเฉพาะการเป็นพรรคขนาดใหญ่ระดับส.ส.เกิน ๑๐๐ คน หรือการเป็นพรรคอันดับ ๒ ของวงการที่เบียดแย่งอำนาจกับพรรคขั้วทักษิณ อย่างไรก็ตามการวางสถานะเป็นพรรคขนาดกลางเกือบใหญ่น่าจะเป็นจุดยืนที่พรรคสีฟ้าวางเป็นเป้าหมาย ปัจจุบันมี ๕๐ กว่าๆ อนาคตเที่ยวหน้าถ้าได้เท่าเก่าหรือมากกว่าเดิมก็สุดยอดแล้ว โดยเฉพราะหากการคิดคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบเก่าหายไป แว่วว่าล่าสุดบรรยากาศในพรรคตอนนี้กลับมาชื่นมื่นจุรินทร์จูบปากผนึกกำลังกับเฉลิมชัย มีนิพนธ์กับเดชอิศม์เป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำงาน ต้องตามดูว่ายุคใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ๔ จตุรเทพคีย์แมนสำคัญอย่าง “จุรินทร์ -เฉลิมชัย-นิพนธ์-เดชอิศม์” จะพาพรรคไปได้ไกลแค่ไหนจะสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเวลาอันใกล้ ซึ่งมีเหล่าเสือ สิงห์ กระทิง แรด จากพรรคต่างๆ ได้ดีมากน้อยเพียงใด หลังอำนาจบารมีถึงพร้อมเงินทุนเสบียงกรังมหาศาลพร้อมชนทุกกระดาน
ล่าสุดวงในกระซิบมาว่าเตรียมปรับโฉมพรรคใหม่ โดยเตรียมวางตัวพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.คลังยุคชวนเป็นนายกฯ มือเศรษฐกิจระดับหัวกะทิประเทศ ผ่าทางตันขึ้นกุมบังเหียนหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคคนใหม่แทนที่ปริญญ์ที่เสียศูนย์ทางการเมืองไปแล้ว ส่วนจะจริงหรือไม่ประการใดก็ติดตามกันไป ถึงยุคปชป.ผลัดใบเพราะฉะนั้นปรากฎการณ์อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานีออกมาโวยว่าไม่มีชื่อในการเปิดตัวผู้สมัครของพรรคที่จ.ปัตตานี เพราะถูกผู้มีอิทธิพลคนใหญ่ในพรรคดีดออก น่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่และคงไม่ใช่เรื่องสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นกับพรรคสีฟ้า จากนี้ไปจะได้เห็นพรรคประชาธิปัตย์ลดเชฟแกนนำพรรคกระชับอำนาจกันอีกหลายกรณี ส.ส.หลายคนได้ไปต่อแต่ผู้แทนอีกมากมายจะถูกทิ้งไว้กลางทาง การเมืองใกล้เลือกตั้งไม่มีการเกรงใจ ใครมีพวกใครแบ็กดีใครน้ำเลี้ยงถึงก็ได้ไปต่อ ส่วนพวกที่ไม่มีอะไรเลยอย่างที่ว่าก็ต้องไปตามทางไปที่ชอบที่ชอบเหมือนอย่างที่นายหัวนิพนธ์ว่า จับตาพรรคประชาธิปัตย์ขยับกระชับอำนาจวัดดวงอนาคตจุรินทร์และพลพรรค
//////////////////////