"google doodle" กูเกิล ดูเดิล ร่วมรำลึกครบรอบ 75 ปี การตีพิมพ์บันทึกลับโศกนาฏกรรมของ Anne Frank เด็กสาวที่เปี่ยมด้วยความหวังในยุคสงคราม
ข่าวที่น่าสนใจ
“google doodle” กูเกิล ดูเดิล เปลี่ยนโลโก้เป็นสไลด์เนื้อหาที่ตัดตอนมาจากไดอารี่ของ Anne Frank (แอนน์ แฟรงค์) เด็กสาวหนึ่งในเหยื่อโศกนาฏกรรมสงครามนา ซี เจ้าของบันทึกลับชื่อดังก้องโลกที่ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างการซ่อนตัวจากการสังหารหมู่ชาวยิวที่สร้างทั้งความสะเทือนใจและความประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน จนถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือกว่า 70 ภาษาและมียอดขายมากกว่า 30 ล้าน และวันที่ 25 มิถุนายนนี้ เป็นวันครบรอบ 75 ปีของการตีพิมพ์ไดอารี่ของเธอ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
Anne Frank (แอนน์ แฟรงค์) เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1929 ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อพรรคนา ซีเริ่มมีอำนาจในเยอรมนี ครอบครัวของเธอก็ย้ายไปอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อหนีกองทัพนา ซีจากการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อชาวยิว เช่นเดียวกับชาวยิวคนอื่น ๆ อีกกว่า 25,000 ชีวิต จนกระทั่งค.ศ. 1940 เยอรมนีก็บุกเนเธอร์แลนด์ ชาวยิวหลายล้านต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมอย่างไร้มนุษยธรรม ทั้งการจำคุก ประหารชีวิต ไปจนถึงการยังค่ายกักกันที่ไร้มนุษยธรรม บางส่วนเลือกที่หนีออกจากบ้านหรือไปซ่อนตัวในสถานที่ต่าง ๆ
ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1942 ครอบครัวของแอนน์ได้หลบหนีไปซ่อนตัวในห้องลับใต้หลังคาของบริษัทพ่อเธอ ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์แคบ ๆ สองชั้นและมีห้องใต้หลังคาอีกหนึ่งชั้น ทั้งเจ็ดคนใช้ชีวิตในห้องนั้นเงียบ ๆ ในเวลากลางวันและฟังข่าวสารจากวิทยุในตอนกลางคืน โดยมีบุคคลภายนอกไม่กี่คนคอยให้ความช่วยเหลือและแอบนำเสบียงอาหารมาให้พวกเขา และแล้วช่วงเวลาที่น่าจะมีความสุขมากที่สุดในขณะนั้นก็มาถึง เมื่อเธอได้รับของขวัญวันเกิดอายุ 13 ปี เป็นสมุดบันทึกปกแข็งที่เธอไม่รู้เลยว่า เรื่องราวบันทึกของเธอต่อจากนี้จะเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
ตลอดเวลา 25 เดือน เธอได้เติมเต็มช่องว่างลงในสมุดบันทึก ทั้งความฝันที่อยากเป็นนักเขียนมาเสมอ เรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวัน ความชอบและความไม่ชอบ ความคิด ความเชื่อและความรู้สึกของต่อเรื่องต่าง ๆ ของเธอไว้อีกมากมาย “ที่ใดมีความหวัง ที่นั่นมีชีวิต มันเติมเต็มความกล้าหาญและทำให้เราแข็งแกร่งอีกครั้ง” เป็นข้อความที่แอนน์บันทึกเอาไว้ แม้จะต้องหลบซ่อน แต่เธอยังคงมีหวังเสมอว่าจะได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างอิสระอีกครั้ง เธอไม่ปล่อยให้คืนวันเหล่านั้นสูญเปล่า แอนน์มักใช้เวลาช่วงบ่ายในการเขียนบันทึกหรือเรียนสิ่งต่าง ๆ ที่เธอสนใจอยู่เสมอ และหวังว่าบันทึกของเธอจะสามารถตีพิมพ์ได้หลังสงคราม ในชื่อเรื่อง Het Achterhuis (The Secret Annex)
แต่แล้วฝันก็สลายลงในพริบตา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1944 หน่วยสืบราชการลับของนา ซีพบครอบครัวแฟรงก์ จับกุมและนำตัวไปที่ศูนย์กักกัน ถูกบังคับให้ทำงานหนัก ก่อนที่แอนน์ มาร์กอท (พี่สาว) และแม่จะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันเอาชวิทซ์ในโปแลนด์ ส่วนคนชรา คนพิการ และเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกกำจัดอย่างโหดเหี้ยมด้วยการรมแก๊สทันทีเมื่อถึงที่หมาย
พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในห้องสภาพคับแคบ สุขอนามัยย่ำแย่ ทำงานหนักและได้กินอาหารเพียงน้อยนิด หลังจากนั้นแม่เธอก็เสียชีวิตในค่าย ไม่กี่เดือนต่อมา แอนด์และมาร์กอท ก็ถูกส่งไปยังค่ายกักกันเบอร์เกน-เบลเซ่นในเยอรมนี เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดในค่ายกักกัน มาร์กอธได้เสียชีวิตลง ไม่นานเธอจากโลกตามพี่สาวไปในวัย 15 ปี
ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นหนึ่งในเหยื่อโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ แต่เรื่องราวของเธอกลับกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ไดอารี่ของแอนน์ แฟรงค์ กลายเป็นงานวรรณกรรมที่มีคนอ่านกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งคอยย้ำเตือนเสมอว่าสงครามโหดร้ายกับมนุษยชาติมากแค่ไหน ทาง กูเกิล ดูเดิล จึงได้เปลี่ยนโลโก้ เพื่อเป็นการให้เกียรติบุคคลอันทรงคุณค่านั่นเอง
ข้อมูล : Google
ข่าวที่เกี่ยวข้อง