นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานปราบปรามคดีทุจริต ภาค 9 และโฆษกอัยการภาค 9 เปิดเผยถึงกรณีเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ซอยกิ่งแก้ว 21 เมื่อช่วงเช้ามึดวันที่ 5 ก.ค.64 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีบ้านเรือน ยานพาหนะ และทรัพย์สินต่างๆ ที่อยู่ในช่วงรัศมี 5 กม. ได้รับความเสียหายจำนวนมากนั้น โดยสิทธิทางกฎหมายที่ประชาชนจะเรียกร้อง อาจต้องรอทราบต้นเหตุด้วยว่าเกิดมาจากประมาทหรือไม่ ซึ่งตำรวจจะเข้าตรวจสอบเพื่อแจ้งข้อหาทางอาญากับทางบริษัทก่อน ถึงจะเริ่มกระบวนการเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งต่อไปได้ แต่อาจต้องใช้เวลานานหน่อย หากเป็นกรณีประมาทเลินเล่อ กระทำต่อผู้อื่นได้รับความเสียหาย เจ้าของโรงงานต้องรับผิดชอบแน่นอน
อันดับแรกตอนนี้ อยากให้ผู้เสียหายถ่ายภาพความเสียหายของทรัพย์สินตนเองเก็บไว้ก่อน ระบุวันเวลาบันทึกให้ชัดเจน หากมีประกันภัยบ้านให้รีบติดต่อ เน้นการเรียกค่าเสียหายซ่อมแซมไว้ก่อน เพราะว่าบ้านเป็นทรัพย์สินที่อยู่อาศัย หากไม่ซ่อมก็ไม่ได้ สำคัญต้องเก็บใบเสร็จค่าซ่อมไว้ทุกอย่าง ควรมีลายเซ็นผู้รับเงินเป็นหลักฐานด้วย เพราะหลักการประกันภัยจะจ่ายตามความเสียหายจริง ประกันภัยบ้านบริษัทใดพร้อมน่ารีบออกมาดูความเสียหายเป็นตัวอย่างเลยน่าจะดี
ส่วนรถยนต์ที่เสียหายก็เช่นกัน ให้แจ้งไปทางกรมธรรม์ในลักษณะเดียวกัน รวบรวมหลักฐานไว้ พอตำรวจสรุปประเด็น ก็เพิ่มสิทธิ์เรียกร้องต่อไป ในส่วนของร่างกายหากได้รับผลกระทบจากการสูดดมสารเคมี ก็ให้เก็บผลการตรวจร่างกาย มาเป็นหลักฐานได้ด้วยเช่นกัน ในอนาคตหากทำเรื่องแล้วไม่ได้ผล ให้ร้องต่อไปทางหน่วยคุ้มครองทางกฎหมายของจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อพิจารณาด้วย
ด้าน นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ได้มีการประสานให้บริษัท แมคลาเรน ที่คุ้มครองโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล เตรียมประเมินความเสียหายไว้แล้ว ถ้าเจ้าของมายื่นเรื่องเมื่อไร ก็จะสามารถเบิกค่าเสียหายได้ โดยมีวงเงินประกัน 20 ล้านบาท เบื้องต้นอาจไม่ครอบคลุมทั้งหมด อาจต้องเฉลี่ยจ่ายไปก่อนตามความเสียหายของจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ แต่เจ้าของโรงงานได้ทำประกันไว้ 3 ส่วน ทุนทรัพย์ที่คุ้มครองทั้งหมด 379 ล้านบาท อาทิ อุปกรณ์หม้อน้ำที่ระเบิดก็ทำประกันไว้ 21 ล้านบาท ความเสียหายภายนอกโรงงาน ก็ทำประกัน 5 ล้านบาท ขณะนี้อาจเร็วไปในเรื่องการเริ่มจ่ายเงินชดเชย แต่ในอนาคตหากบริษัทไม่ยอมจ่าย ก็สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายได้ ซึ่งความเสียหายทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการสำรวจ ในส่วนผู้ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นให้ติดต่อไปที่ศูนย์ช่วยเหลืออพยพแต่ละแห่งที่ตั้งไว้ก่อน หรือหากมีประกันบ้าน หรือยานพาหนะ ให้เคลมเงินประกันตามวงเงินตนเองก่อน