วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พิพิธภัณฑ์ชาวกูยศูนย์วัฒนธรรมเกาะกลางน้ำสระกู่ ต.กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.อ่างทอง หรือผู้ว่าปู อดีต ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอ่างทอง และนายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดป้ายพิพิธภัณฑ์ชาวกูย อำเภอปรางค์กู่ ซึ่ง อ.ปรางค์กู่ ร่วมกับ อบต.กู่ ส่วนราชการทุกส่วน และประชาชาว อ.ปรางค์กู่ ซึ่งส่วนมากเป็นชนเผ่ากูยหรือเผ่าส่วย 1 ใน 4 ของชนเผ่าพื้นเมืองของ จ.ศรีสะเกษ ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและให้ความเพลิดเพลินแก่ประชาชน มีจุดประสงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอเรื่องราววิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวกูย ให้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์กับปราสาทปรางค์กู่ ส่งเสริมประชาชนมีรายได้เสริมอย่างทั่วถึง เป็นที่สงวนรักษาวัตถุทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวกูย เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของในท้องถิ่น เครื่องมือเครื่องใช้ ศิลปหัตถกรรมอันเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม มีการประกอบพิธีทางศาสนา การแสดงรำอย่างสวยงามของชาวกูยกว่า 300 คน โดยมี นายวิทยา ไชยเดชกำจร นายอำเภอปรางค์กู่ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และมี นายพสิษฐ์ เจนพิทักษ์คุณ นายก อบต.ตำบลกู่ เป็นผู้กล่าวรายงาน หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษและอำเภอปรางค์กู่ ข้าราชการและประชาชนชาวตำบลกู่ พากันแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองชาวเผ่ากูย มาร่วมในพิธีและให้การต้อนรับจำนวนมาก
นายวิทยา ไชยเดชกำจร นายอำเภอปรางค์กู่ กล่าวว่า สืบเนื่องจากแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 กับวิสัยทัศน์ของประเทศไทย ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายรัฐบาลและแผนบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ได้อนุมัติให้อำเภอปรางค์กูดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน กิจกรรม ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ คสล. 2 ชั้น และอาคารรองรับนักท่องเที่ยว อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ งบประมาณ 5,180,000 บาท ณ ศูนย์วัฒนธรรมปรางค์กู่ เกาะกลางน้ำ(สระกู่) บ้านกู่ ต.กู่ อ.ปรางค์ภู่ จ.ศรีสะเกษ และอ.ปรางค์กู่ ได้แจ้งขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างของรัฐ และขอรับโอนทรัพย์สินที่เกิดจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกลุ่มจังหวัดฯ ให้ อบต.กู่ สามารถตั้งงบประมาณบำรุงรักษาทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดความคุ้มค่าในทรัพย์สินทางราชการ ทั้งนี้ อบต.กู่ ได้ยื่นความประสงค์ขอใช้ทรัพย์สินต่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ศรีสะเกษ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้พิจารณาอนุญาตให้อบต.กู่ ใช้อาคารราชพัสดุหลังลำดับที่ ศก.1955 ได้ตามประสงค์
นายพสิษฐ์ เจนพิทักษ์คุณ นายก อบต.กู่ กล่าวว่า เมื่อสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ศรีสะเกษ ได้อนุญาตให้ อบต.กู่ใช้อาคารพิพิธภัณฑ์ชาวกูย อาคารราชพัสดุหลังลำดับที่2 ก.1955 ได้ตามประสงค์ แต่ด้วยภารกิจในการบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของ อบต.กู่ มีงบประมาณไม่เพียงพอในการ ดังนั้น นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.อ่างทอง (อดีต ผวจ.ศรีสะเกษ) และนางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหลำากาชาดจังหวัดอ่างทองพร้อมคณะกัลยาณมิตรในบุญ ตลอดจนพระครูวินิฐศีลขันธ์ เจ้าคณะอำเภอแม่วงก์ จึงได้ให้การอนุเคราะห์ดำเนินการระดมงบประมาณจากการทอดกฐินและผ้าป่าวัดแม่วงก์ ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ โดยงบประมาณส่วนหนึ่งนำมาปรับปรุงตกแต่งพิพิธภัณฑ์ชาวกูย จำนวน 2,000,000 บาท โดยพิพิธภัณฑ์ชาวกูยแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงสิ่งต่างๆที่ทางด้านประวัติตาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรมและความรู้อื่นๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและให้ความเพลิดเพลินแก่ประชาชน มีจุดประสงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอเรื่องราววิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวกูย ให้เชื่อมโยงประวัติศาสตร์กับปราสาทปรางค์กู่ ส่งเสริมประชาชนมีรายได้เสริมอย่างทั่วถึง เป็นที่สงวนรักษาวัตถุทางวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวกูย เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของในท้องถิ่น เครื่องมือเครื่องใช้ ศิลปหัตถกรรมอันเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม การนำเสนอและจัดแสดงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของชุมชนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ชาวกูย สะสมอนุรักษ์สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติและชุมชนให้คงอยู่สืบไป ให้เป็นประโยชน์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และเป็นแหล่งการเรียนรู้และการจัดแสดงนิทรรศการชาวกูยมีเอกลักษณ์ของตนเองที่สำคัญแหล่งหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษ และเป็นการพัฒนาชุมชนของชาวกูยแบบยั่งยืนต่อไป
นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.อ่างทอง หรือผู้ว่าปู อดีต ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนรู้สึกประทับใจเพราะว่าเป็นชุมชนชาวกูยที่หวงแหนมรดกวัฒนธรรมเอาไว้ เพราะว่าที่ผ่านมาไม่มีที่เก็บรักษาขณะนี้ก็มีอย่างเป็นทางการแล้ว สามารถที่จะทำให้เป็นเอกลักษณ์เก็บไว้เป็นของตนเองอย่างถาวรยั่งยืนในสังคมได้ตนได้ร่วมกับกัลยาณมิตรทำผ้าป่าสามัคคีมาสมทบในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ชาวกูยแห่งนี้ด้วย เพราะว่ารับปากกับทางชาวบ้านที่นี่เอาไว้จึงต้องทำตามสัญญา ก็ได้รับความร่วมมือที่ดีและในโอกาสที่กลับมาเยี่ยมชาวศรีสะเกษ ตนขอฝากถึงชาวศรีสะเกษว่าก็อยากให้ชาวศรีสะเกษทุกคนรักษาและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้เพราะว่าไม่มีใครที่จะรักเราเท่ากับตัวเราเอง.
ภาพ/ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ