ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้(1 ก.ค.65) เวลา 09.30 น. ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำ 580/2564 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ณ ห้องพิจารณาคดี 6 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร
คดีดังกล่าว บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกดั (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถฟ้าสายสีส้มฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ. 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางพิพากษา มีคำพิพากษา ในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชน
โดยศาลให้เหตุผลว่าการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมภายใน 9 วัน โดยมิได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการแก้ไขตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนรัฐและเอกชน
ดังนั้นการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมิน ซองที่ 2 คือข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนมารวมกัน ในสัดส่วน 30:70 คะแนน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อาจถือว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กระทำการละเมิดต่อ BTS เพราะค่าจ้างที่ปรึกษาด้านเทคนิคและค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ BTS อ้างจำนวน 5 แสนบาท นั้นเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการค้าตามปกติ ไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกจนเป็นเหตุให้ BTS ได้รับความเสียหาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดความเสียหายดังกล่าวให้แก่ BTS ได้ จึงพิพากษายกฟ้อง