เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง ”10 ข้อ กัญชา กัญชง ถอยหลังไม่ได้” โดยมีเนื้อหาว่า “ตามที่มีกลุ่มภาคประชาชนบางกลุ่ม ตลอดจนแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกรบางกลุ่ม แสดงความห่วงใยในมิติต่างๆต่อนโยบายกัญชา บางกรณีมีเป้าหมายเดียวกัน บางกรณีเป็นความเห็นต่าง และหลายกรณีเป็นความเข้าใจผิด จึงขอนำเสนอในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้ ประการแรก การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดนั้น เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมร่วมของที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งไม่ปรากฏชื่อ “กัญชา” อยู่ในประเภทยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 อีกต่อไป เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ด้วยคะแนนอย่างท่วมท้นถึง 467 เสียง โดย “ไม่มีผู้คัดค้านเลยแม้แต่คนเดียว”
ประการที่สอง การที่คณะกรรมการควบบคุมยาเสพติดต่อมาได้พิจารณาให้กัญชาออกจากยาเสพติดเช่นกัน คงเหลือไว้แต่สารสกัดที่มี THC (สารที่ทำให้เมา)เกินกว่า ร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติดนั้น เพราะนอกจากจะเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก จากงานวิจัยจำนวนมากยังพบว่า กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่อย่างมากที่มีโทษต่อสุขภาพอย่างมหาศาล กลับไม่ใช่ยาเสพติด และยังสามารถหาซื้อได้โดยง่าย การกำหนดให้การควบคุมกัญชาอย่างเข้มข้นในระดับยาเสพติดจึงขัดแย้งกับความจริงอย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะนี้กลับมีการโจมตีกัญชายิ่งกว่าเหล้าและบุหรี่เสียอีก นอกจากนั้นกัญชามีประโยชน์ไม่เพียงทางการแพทย์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังช่วยประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองในฐานะเป็นสมุนไพรในครอบครัวที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ได้แก่ช่วยการนอนหลับ เจริญอาหาร ลดการอักเสบ ลดการเกร็ง ลดอาการปวด ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดค่าใช้จ่ายได้ และจะช่วยลดภาระการผูกขาดผลประโยชน์จากบริษัทยาข้ามชาติด้วย
ประการที่สาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนได้เฝ้ารอการใช้กัญชาทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน แต่กลับปรากฏว่ายังคงมี “อคติทางการแพทย์” ที่ปฏิเสธการจ่ายยากัญชาหรือน้ำมันกัญชาให้กับคนไข้ และยังมีแพทย์และเภสัชกรบางกลุ่มที่ต่อต้านกัญชาในขณะนี้มี “ผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทยา” และบริษัทยาข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด จึงไม่ควรปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติในการถูกจับกุมนำไปติดคุกในการใช้กัญชาในครัวเรือน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่การเข้าถึงของประชาชนในทุกครัวเรือน เพื่อป้องกันการผูกขาดของบริษัทยาหรือกัญชาเอาไว้กับกลุ่มทุนบริษัทยา กลุ่มทุนทางการแพทย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ประการที่สี่ การที่มีสุญญากาศทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่าประชาชนเข้าใช้งานระบบในแอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ”ขององค์การอาหารและยาในเรื่องการจดแจ้งการปลูกกัญชาถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2565 มากกว่า 42 ล้านครั้ง และมีผู้ที่ลงทะเบียนในการจดแจ้งเพื่อการปลูกมากถึง 944,717 คน โดยในคนกลุ่มนี้มีการใช้กัญชาอยู่แล้วหรือปลูกอยู่แล้วจำนวนมาก และหากไม่มีพื้นที่สุญญากาศทางกฎหมายเลย กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่มีทางปรากฏตัวให้เห็นสภาพข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏทั้งหมดเวลานี้