วันที่ 5 ก.ค. 65 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7 มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….วาระสองต่อเป็นวันที่เจ็ด ซึ่งเหลือการพิจารณาอีก 4 มาตรา จากทั้งหมด172 มาตรา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาต่อในมาตรา 169/1 เรื่องการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ได้เสนอขอเพิ่มข้อความในมาตราดังกล่าว ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้แปรญัตติ หรือเสนอสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ว่าแต่ต้น ทำให้มีสมาชิกรัฐสภาหลายคนลุกขึ้นประท้วงว่าแบบนี้ไม่สามารถทำได้ และไม่ถูกต้องตามขั้นตอนข้อบังคับกาประชุม ทำให้พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะกมธ.ฯได้ขอที่ประชุมกลับไปพิจารณามาตราดังกล่าวใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกมธ. อภิปรายว่า กมธ.มีมติเห็นชอบแก้ไขมาตรา 169/1 ใหม่ เนื่องจากเห็นว่าในวาระเริ่มแรกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนที่พ.ร.บ.ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาใช้บังคับได้ตามวรรคหนึ่ง การจะดำเนินการตามประกาศประการใดให้เป็นไปตามที่ก.ตร. ซึ่งกำหนดต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อเราทำกฎหมายแล้วต้องรอบคอบ รัดกุม ไม่เกิดปัญหา ขณะทำกฎหมายเป็นช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงชีวิตพี่น้องตำรวจทั้งประเทศ ดังนั้นสภาฯน่าให้โอกาสตัดสินใจในการปรับย้าย เช่นการขอย้ายกลับจังหวัดหรือกลับภาคตัวเอง หลายคนอาจจะต้องตัดสินใจแบบไม่มียศหรือแบบโอนย้ายหรือไม่ ทางตำรวจสะท้อนมาให้ตนฟัง ยืนยันไม่มีส่วนประสงค์ใดเกี่ยวข้องกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะชอบ จะเชียร์หรือต่อต้านใคร เพียงแต่กฎหมายนี้มีคนได้เปรียบเสียเปรียบเป็นธรรมดา แต่เราต้องสร้างกระบวนการนิติธรรมให้ได้ และไม่ให้เกิดการสะดุดในการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปตำรวจ
นายสมชาย อภิปรายต่อว่า เรามีระยะเวลา 180 วัน ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ และการแต่งตั้งข้าราชการก็จะใช้ตามหลักที่ไม่ขัดหรือแย้งพ.ร.บ.ฉบับนี้ ช่วงนี้เป็นช่วงให้เวลาเขาปรับตัว จากการสอบถามผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วตั้งแต่ระดับผบ.ถึงระดับล่าง ทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันไม่ยืดเยื้อไปกว่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นความมั่นใจว่าสภาฯจะออกกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไม่เกิดสะดุดหยุดลง จึงขอความเห็นชอบจากสภาฯว่าเมื่อหน่วยปฏิบัติทำหน้าที่แล้วกฎหมายจะบังคับใช้ทันที มันเกิดปัญหา แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายต่างๆยังมีบทเฉพาะกาล ซึ่งมาตรา 169/1 จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาเห็นใจและเข้าใจหน่วยปฏิบัติด้วยว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านตามระยะเวลา 180 วันได้ครบถ้วนสมบูรณ์และไม่มีปัญหาในอนาคต