ย้อนไทม์ไลน์รื้อ TOR รถไฟฟ้าสีส้มมิชอบ ลุ้น 7 ก.ค. ศาลปกครองพิพากษา

ลุ้นบทสรุป โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งวันพฤหัสบดี ที่ 7 กรกฎาคม 2565 ในเวลา 10.30 น. ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ที่ 580/2564 ณ ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

คดีนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถฟ้าสายสีส้มฯ และ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ. 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย

บทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร
1. ศาลยกฟ้อง ให้คณะกรรมการคัดเลือก ม.36 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ชนะ

2. ศาล ตัดสินให้ BTSC ชนะคดี ซึ่งจะเป็นเหตุให้รฟม. ต้องกลับไปใช้ ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน (TOR) เงื่อนไขการประมูลเดิม เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งมีโอกาสสูง เนื่องจากที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของศาลฯ และข้อเท็จจริงในการประมูล เห็นได้ชัดว่า การแก้ไข TOR ของรฟม. เป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง

โดยคำพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อวันที่ 9 ก.พ.65 ระบุชัดว่า “การแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ติดตามรายละเอียดของโครงการนี้ ว่ามีที่มา ที่ไป อย่างไร

เริ่มจาก รัฐบาลมีนโยบายที่จะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อกระจายเส้นทางการเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว และขนส่งผู้โดยสารได้ในปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดและคับคั่งบนถนนที่มีพื้นที่จำกัด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ลดปริมาณการใช้รถยนต์ของประชาชน เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณในการนำเข้าและสำรองน้ำมัน ที่มีผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้กำหนดให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี เป็นระบบขนส่งมวลชนสายหลักที่เชื่อมโยงฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการรวมกันของรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ – สามเสน ของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีข้อพิพาทนี้ เป็นโครงการช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 22.5 กิโลเมตร (ใต้ดิน 13.6 กิโลเมตรและยกระดับ 8.9 กิโลเมตร) มีทั้งหมด 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานีและยกระดับ 7 สถานี) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงทุนงานโยธาเองทั้งหมด คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 จากเดิมมีแผนเปิดให้บริการปี 2566

เนื่องจากกระทรวงคมนาคม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)มัดรวมระบบเดินรถเป็นสัญญาเดียว ส้มตะวันออกและส้มตะวันตก ทำให้สายสีส้มฝั่งตะวันออก ต้องเลื่อนเวลาการให้บริการออกไป เพื่อรอให้การประมูลโครงการ สายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้ตัวผู้รับจ้างงานโยธา และสัมปทานเดินรถ ทั้งระบบ 30 ปี

2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการส่วนตะวันตก ที่มีปัญหาการฟ้องร้อง จนนำมาสู่การประกาศจัดประมูลใหม่ สายตะวันตกนี้ รวมระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (ใต้ดินตลอดทั้งสาย)

 

ข่าวที่น่าสนใจ

โครงการนี้ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 มีมติให้รูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ “PPP Net Cost” โดยภาครัฐจะลงทุนออกค่าเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ตั้งแต่ช่วงสถานีบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ส่วนเอกชนจะเป็นลงทุนงานโยธา งานระบบไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า ค่าจ้างที่ปรึกษา และค่าซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง โดยเอกชนจะได้รับสิทธิบริหารการเดินรถตลอดทั้งสาย (ส่วนตะวันตกและตะวันออก) เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์)

โดยภาครัฐจะทยอยจ่ายค่างานโยธาคืนให้แก่เอกชนตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หลังจากที่เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 ปี รวมระยะเวลาในการผ่อนชำระคืนทั้งสิ้น 7 ปี วงเงินไม่เกิน 96,012 ล้านบาท

ปมปัญหาการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เริ่มจาก

1. วันที่ 20 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 22 เม.ย. 2563 รฟม.เปิดรับฟัง ความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน หรือ ทีโออาร์ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

2. วันที่ 3 – 9 ก.ค. 63 รฟม.โดย คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดทีโออาร์ เพื่อจัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน(Request for Proposal: RFP) พร้อมรายละเอียดการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ

3.วันที่ 10 – 24 ก.ค.63 รฟม.จำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน หรือ RFP ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม. พร้อมกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกันยายน 2563

4.วันที่ 24 ก.ค.63 วันสุดท้ายของการจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน มี 10 บริษัทเอกชน ให้ความสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ประกอบด้วย
1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF)
9. บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (ประเทศจีน)
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

**รฟม.แจ้งใช้หลักเกณฑ์ใหม่ – BTSC ยื่นศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว

5.วันที่ 21 ส.ค.63 รฟม.แจ้งใช้หลักเกณฑ์ประเมินการประมูลใหม่ โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดแถลงข่าวอ้างที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีข้อสรุปว่าจะปรับเกณฑ์การพิจารณา คัดเลือกการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ใหม่ทั้งหมด

โดยเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค (สัดส่วน 30 คะแนน) และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงิน (สัดส่วน 70 คะแนน) มาพิจารณารวมกัน ทำให้ต้องขยายเวลายื่นเอกสารประกวดราคาจาก 60 วัน ไปอีก 45 วัน หรือจากกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 23 ก.ย.2563 เลื่อนไปเป็นวันที่ 9 พ.ย.2563 เพื่อให้เอกชนมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่

ส่วนที่มาที่ไปของเงื่อนงำดังกล่าว เริ่มต้นมาจากการที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) หนึ่งในผู้ซื้อซองประมูลทำหนังสือถึง รฟม .เพื่อขอเปลี่่ยนแปลงทีโออาร์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ เงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชนก็เปลี่ยนแปลงไปหมด และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 22 เม.ย. 2563 รฟม.ได้เปิดรับฟัง ความคิดเห็นของภาคเอกชนทั้งหมด รวมถึงบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) มาใช้ในการร่างสัญญาร่วมทุน หรือ ทีโออาร์ แล้วด้วย

6. วันที่ 17 ก.ย.63 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย
– ขอให้ยกเลิกเอกสารเพิ่มเติม ตามที่ รฟม.ประกาศออกมา นอกเหนือจากเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ซึ่งมีผลทำให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกสาร จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน

– ขอคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว ไม่ให้มีการเปิดซองประมูลจนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งตัดสินคดี
โดย BTSC เห็นว่า การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศขาย RFP ไปแล้ว ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่เป็นธรรม อีกทั้งการดำเนินการของ รฟม. ยังดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่อนุมัติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกในรูปแบบเดิม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

จากนั้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ การร่วมลงทุนของ รฟม. ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

“เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและรฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง มีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้

ในชั้นนี้จึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

7. วันที่ 2 พ.ย. 63 รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น กรณีมีคำทุเลาคำสั่งการบังคับตามหลักเกณฑ์ การร่วมลงทุนของรฟม. ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

**คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ -ยกเลิกคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

8. วันที่ 3 ก.พ.64 คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี(สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

9. วันที่ 11 ก.พ.64 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจาก คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่มีอยู่ต่อไปแล้ว

แต่ ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ไม่จบเท่านั้น เพราะทาง BTSC ได้มีการยื่นคำฟ้องต่อ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อเอาผิด นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวม 7 คน กรณีแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูลในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

**ผู้แทนสำนักงบประมาณ (หนึ่งในคกก.คัดเลือกม.36 ) ฟันธง รื้อ แก้ไข TOR ทำไม่ได้ต้องเสนอครม.ก่อน

คดีดังกล่าว ศาลอาญาทุจริตฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลและประทับรับฟ้อง พร้อมดำเนินการไต่สวนบุคคลผู้เกี่ยวข้อง โดยมีการสอบพยานนัดสุดท้ายฝ่ายโจทก์ คือ นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ไปเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา และอดีตหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ในขณะนั้น ยังคงยืนยันความเห็น กรณีคณะกรรมการ PPP นำเสนอหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เสนอต่อครม.พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการ

ตามรายละเอียดหนังสือ คณะกรรมการ PPP ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุน รวมทั้ง 2 ส่วนจากภาครัฐ เมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก” เป็นเหตุอัน ” ไม่สามารถรื้อ เปลี่ยนแปลง ทีโออาร์ได้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่ครม.มีมติอนุมัติไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

ดังนั้น ถ้าหากคณะกรรมการคัดเลือกฯจะปรับปรุง หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่แตกต่างไปจากที่ครม. มีมติอนุม้ติไว้ อาจเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องนำเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน จึงจะดำเนินการได้

**ศาลปกครองฯ วินิจฉัยรฟม. แก้ TOR ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม มิชอบด้วยกม.

10. วันที่ 9 ก.พ.65 ศาลปกครองกลางพิพากษา มีคำพิพากษา ในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชน

โดยศาลให้เหตุผลว่า การที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมภายใน 9 วัน โดยมิได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการแก้ไขตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนรัฐและเอกชน

 

ดังนั้น การที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมิน ซองที่ 2 คือข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนมารวมกัน ในสัดส่วน 30:70 คะแนน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“การแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ศาลปกครองกลาง ระบุในคำพิพากษา

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อาจถือว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กระทำการละเมิดต่อ BTSC เพราะค่าจ้างที่ปรึกษาด้านเทคนิคและค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ BTSC อ้างจำนวน 5 แสนบาท นั้นเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการค้าตามปกติ ไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกจนเป็นเหตุให้ BTS ได้รับความเสียหาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดความเสียหายดังกล่าวให้แก่ BTSC ได้ จึงพิพากษายกฟ้อง

โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC ระบุว่า ถึงแม้คดีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในส่วนของค่าเสียหาย เพราะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ทาง BTS ใช้ในการยื่นประมูลอยู่แล้ว แต่สาระสำคัญของคำพิพากษา แจ้งชัดเจนว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณา ผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และจากคำพิพากษาของศาลปกครองฯ ดังกล่าว ที่ชี้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลโครงการฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า กรณีนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ ให้ใครหรือไม่

ตอกย้ำด้วย ความไม่ชอบมาพากล จากกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เคยยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ อธิบดีเอสไอ มีความเห็นคดีมีมูล จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการ และ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 นายศรีสุวรรณ ได้นำหลักฐานความเห็นของศาลปกครอง เข้ายื่นเพิ่มเติมต่อป.ป.ช. ใช้ประกอบในการไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อเอาผิด ผู้ว่าการ รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ตามพรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 ฐานทุจริตต่อหน้าที่ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

11 . วันที่ 1 ก.ค.65 ศาลปกครองกลาง ได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถฟ้าสายสีส้มฯ และ รฟม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ. 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย

โดยผู้ฟ้อง ได้มีการแถลงด้วยวาจา สรุปข้อมูลประเด็นคดีให้องค์คณะได้รับทราบ ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้อง ก็ได้ยื่นเอกสารถ้อยแถลงส่งศาลฯ
12. วันที่ 7 ก.ค.65 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในเวลา 10.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดี๑๐ ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

ต้องติดตามว่า บทสรุปเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไร คำพิพากษาของศาลฯ ในครั้งนี้ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับวันที่ 9 ก.พ.65 หรือไม่ ที่ระบุว่า “การแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ……. เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย “

และอย่าลืมว่า ผู้ฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รายใหญ่อันดับหนึ่ง ของไทย การยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เรื่องนี้ จะกระเทือนถึงความเชื่อมั่นของเอกชนรายอื่น หรือแม้กระทั่งเอกชน ต่างประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เลือกตั้ง นายก ทต. ท่าพริกเนินทราย คึกคัก
รถบรรทุก 6 ล้อ ไหลลงเนินเขา เบรกไม่อยู่ พุ่งชนร้านค้า โชคดีไร้ผู้บาดเจ็บ
“ปานเทพ” แนะ “หมอบุญ” กลับไทยยังไม่สาย ลั่นหากคิดว่าตัวเองไม่ผิด ก็มาแสดงความบริสุทธิ์
"แสวง" เลขากกต.รับ ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกนายกอบจ.อุดรธานี บางตา ย้ำรู้ผลคะแนนไม่เกิน 3 ทุ่มวันนี้
สดุดีทหารกล้า สละชีวิตเหตุคนร้ายซุ่มยิงทหารพราน ในพื้นที่ยะลา
"ชูศักดิ์" ชี้สัญญาณดี ศาลฯไม่รับคำร้องคดี "ทักษิณ-พท." ล้มล้างการปกครอง พร้อมแจงคดีครอบงำต่อกกต.
"ปานเทพ" ชี้ "ทนายตั้ม" ดิ้นยาก เปลี่ยนคดีฉ้อโกงเป็นแพ่ง ท้าแน่จริงรับสารภาพดีกว่า
"ทนายสายหยุด" จ่อถอนตัวทำคดี "ทนายตั้ม" ปมโกงเงิน "เจ๊อ้อย" ลั่นเหมือนถูกหลอก 
"สันติสุข" ขยี้ลึก "สื่อ-อินฟลูฯ" เคยออกข่าวเชียร์ "หมอบุญ" โจมตีวัคซีนยุคลุงตู่ อย่าแกล้งลืมปมฉาวอดีต
จีนทดลอง‘รถไฟเร็วสูง’ สายใหม่เชื่อมปากแม่น้ำแยงซี

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น