"โควิด BA.2.75" ดร.อนันต์ แนะเฝ้าระวัง สายพันธุ์นี้หนีภูมิเก่งกว่าเดิม มีแนวโน้มแพร่กระจายไวกว่า BA.5
ข่าวที่น่าสนใจ
“โควิด BA.2.75” ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 BA.5 และ BA.2.75 เผย คาดว่าอีกไม่นานไวรัสสายพันธุ์ BA.2.75 จะมีการพูดถึงในสื่อมากขึ้น
ข้อมูลตอนนี้พบไวรัสสายพันธุ์นี้ในอินเดียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในหลายประเทศเองก็มีรายงานพบไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว เช่น ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ซึ่งไวรัสสายพันธุ์นี้ได้รับความสนใจด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
1. เป็น BA.2 ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มถึง 9 ตำแหน่งบนโปรตีนหนามสไปค์ (เทียบกับ BA.4/BA.5)
- แต่เนื่องจากตำแหน่งที่ 493 (R493Q) เป็นการเปลี่ยนกลับจากโอมิครอนไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้บางคนนับว่าเป็น 8 ตำแหน่ง
- เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าปกติ โดยเฉพาะตำแหน่งที่ 446 ซึ่งเปลี่ยนจาก G (Glycine) ไปเป็น S (Serine) G446S
- เคยมีคนพูดถึงว่า เป็นตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสหนีภูมิจากการจับของแอนติบอดีได้มากขึ้น
2. ข้อมูลของจำนวนตัวอย่างไวรัสที่ถอดรหัสในอินเดียพบการเพิ่มจำนวนของสายพันธุ์นี้อย่างมีนัยสำคัญ
- โดยเฉพาะในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งป็นถิ่นกำเนิดของเดลตามาก่อน
- มีผู้พยายามเปรียบเทียบความสามารถของ BA.2.75 กับ BA.5 ในการแพร่กระจาย
- พบว่า BA.2.75 มีแนวโน้มจะแพร่ได้เร็วกว่า BA.5 แต่เนื่องจาก ตัวอย่างยังมีไม่มาก ทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อมูลยังมีน้อย
ทั้งนี้ยังไม่มีประเด็นเรื่องของความรุนแรงของเชื้อชนิดนี้ออกมา คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า ปัจจุบันโควิดเป็นโอมิครอน 100% โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจด้วย SNP ทั้งหมด 948 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 447 ราย ส่วน BA.4 และ BA.5 ยังไม่ได้แยก เพราะ เป็นการตรวจชั้นต้น มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกัน
สำหรับการตรวจโดยรวม 489 ราย แบ่งกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ จำนวน 46 ตัวอย่าง พบว่า เป็น BA.4 และ BA.5 ประมาณ 78.3% ส่วนกลุ่มในประเทศมี 900 ตัวอย่าง เป็น BA.4 และ BA.5 กว่า 50.3% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหากเป็นแบบนี้คาดการณ์ว่า อีกไม่นานสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะครองตลาดของการติดเชื้อในประเทศไทย
สรุป : สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นกว่า 50% และจะค่อย ๆ เบียดโอมิครอน ขณะที่ความรุนแรงข้อมูลยังไม่มากพอ ต้องติดตามคนใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบเพิ่มเติม
ข้อมูล : Anan Jongkaewwattana
ข่าวที่เกี่ยวข้อง