BTSC เฮ “ศาลปกครอง”พิพากษารฟม.ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม มิชอบด้วยกม.

ศาลปกครองกลาง พิพากษาในคดีบีทีเอสซี ฟ้องร้อง คณะกรรมการฯ ม.36 และ รฟม. กรณียกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์) โดยเห็นว่า การยกเลิกที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตามศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอ การประกวดราคารอบใหม่ที่เริ่มไปแล้ว ขณะที่ รฟม.ยืนยันเตรียมอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

วันนี้ ( 7 ก.ค.) ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากคดีหมายเลขดำ ที่ 580/2564 ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถฟ้าสายสีส้มฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ. 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ครั้ง 1 /2564 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย

 

ข่าวที่น่าสนใจ

โดยเมื่อเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ได้อ่านถึงคำฟ้องและคำโต้แย้งของทั้ง 2 ฝ่าย ตั้งแต่ในประเด็นว่าคณะกรรมการ ม.36 มีอำนาจ มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวน และผู้ว่าการฯ รฟม . มีอำนาจในการออกประกาศหรือไม่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเป็นไปตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน พ.ศ.2562 มาตรา 6 หรือไม่

รวมทั้งคำโต้แย้งของฝ่ายผู้ถูกฟ้องที่ระบุว่า จำเป็นต้องมีการยกเลิก และออกประกาศยกเลิกการเชิญชวน ประกวดราคา รถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งแรก เนื่องจากหากไม่มีประกาศยกเลิกออกมา และศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการปรับเกณฑ์การประมูลในครั้งแรก ในขณะนั้น และเมื่อยังไม่มีการยกเลิกจะทำให้การเดินหน้าประกวดราคารอบใหม่ ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้โครงการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ล่าช้า กระทบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ) ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเกิดความล่าช้า โดยภาพรวมสองปีกระทบกับการเปิดให้บริการต้องเลื่อนจากปี 2567 ไปปี 2569 ซึ่งระหว่างความล่าช้านี้เมื่อโครงการสายสีส้มฝั่งตะวันออกก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีต้นทุนในการดูแลรักษาระบบทั้งที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการประมาณเดือนละ 41 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามศาลปกครอง ไม่ได้ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้โดยเห็นว่าการดำเนินการสามารถไปเร่งรัดได้ แต่ให้น้ำหนักกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 6 ตามพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องเรื่องของความโปร่งใส การเป็นหุ้นส่วนที่ดีในโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงประโยชน์ของสาธารณะว่า ได้รับผลกระทบหรือไม่

 

ดังนั้นศาลจึงมีคำพิพากษาว่าการที่คณะกรรมการมาตรา 36 รฟม. มีมติยกเลิกประกาศเชิญชวนรอบแรกและการออกประกาศเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องขอให้มีการชะลอ การเดินหน้าประกวดราคารอบใหม่ ศาลปกครองไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอ รวมทั้งได้มีการหยิบยกประเด็นที่มีการยกเลิกในรอบแรก บริษัทที่ร่วมลงทุนกับบีทีเอสเป็นกิจการร่วมค้า ได้รับคืนเงินค่าซอง ไปแล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากระบวนการประกวดราคาครั้งใหม่นี้จะยังมีความสมบูรณ์เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

ทางด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผย ภายหลังศาลปกครองกลางการอ่านคำพิพากษาว่า ทางศางปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ที่ให้ยกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และเพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม. ที่ให้ยกเลิกการประมูล ชี้ให้เห็นว่าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในการประมูลครั้งแรกนั้นยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ เพราะคำสั่งยกเลิกประมูลไม่เป็นผล ซึ่งโดยปกติแล้วโครงการเดียวก็ต้องมีการประมูลในครั้งเดียว และใช้หลักเกณฑ์เดียว

ส่วนกำหนดการประมูลรอบใหม่ที่ รฟม.จะเปิดรับซองเอกสารจากเอกชนในวันที่ 27 ก.ค. และ เปิดซองข้อเสนอ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 จะดำเนินการอย่างไร คงต้องรอดูการพิจารณาจาก รฟม.อีกครั้ง เพราะถือว่าปัจจุบันการประมูลครั้งแรกยังไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าจะมีการคืนซองข้อเสนอของเอกชนไปบ้างแล้ว แต่ศาลปกครองชี้ว่าการประมูลรอบใหม่สามารถยกเลิกได้

นายสุรพงษ์ ระบุด้วยว่า การที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกครั้งที่แล้ว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันนี้ต้องฝากไปพิจารณากันจะทำอย่างไร ในส่วนของบริษัทเองก็คงต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางฝั่งกฎหมาย ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

“วันนี้ก็พึงพอใจ ศาลให้ความยุติธรรมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ชอบ ก็คือการยกเลิกการประมูลสายสีส้ม ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ (2464) ศาลก็มีคำสั่งเพิกถอน”

ส่วนข้อคำถามว่า วันนี้ถือเป็นการสิ้นสุดแล้วใช่หรือไม่ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการอันนี้ ไม่แน่ใจว่า รฟม.อาจจะอุทธรณ์ได้หรือไม่

ประเด็นสำคัญ นายสุรพงษ์ ระบุว่า การตัดสินในวันนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานของการประมูลของประเทศ บริษัทยังไม่รู้ว่าจะชนะหรือแพ้ แต่อยากให้เกิดการประมูลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นธรรม อันนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่งศาลก็ได้เน้นหลายครั้งว่า ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบ เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวกับชื่อเสียงของประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ในการประมูลโครงการขนาดใหญ่

“ เป็นบรรทัดฐานของการประมูลบ้านเรา ไม่ใช่ว่าการต่อสู้เราจะชนะ เรายังไม่รู้ว่า ว่าจะชนะหรือแพ้ แต่เราอยากให้เกิดการประมูลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และเป็นธรรม อันนี้มันจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เมื่อกี้ ศาลก็เน้นหลายทีแล้ว ว่าอันนี้มันต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันจะเกี่ยวกับชื่อเสียงของประเทศด้วย และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ถ้าการประมูลโครงการขนาดใหญ่มีความโปร่งใส มีความเป็นธรรม คนก็กล้าที่จะมาลงทุน “ นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนการประกวดราคารอบใหม่ ปัจจุบัน BTSC ได้เข้าร่วมซื้อซองเอกสาร แต่ยอมรับว่าหลักเกณฑ์คัดเลือกด้านคุณสมบัติในการประมูลรอบใหม่นั้น แตกต่างจากเกณฑ์รอบแรกอย่างมาก และจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในวันนี้ ที่ชี้ว่าการยกเลิกประมูลเป็นผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะต้องรอดูว่า รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้อย่างไร และใช้หลักเกณฑ์ใด

“ เราพูดถึงประกาศประมูล คือเพิกถอนคำสั่งยกเลิก แสดงว่าครั้งที่แล้วยังอยู่ บวกกับศาลมีคำพิพากษาว่า การเปลี่ยนเกณฑ์ไม่ชอบ เพราะฉะนั้น ถ้าถามผม คืออันแรกสุดเลยอันนั้น คืออันที่ถูกต้อง คงต้องไปดูคำพิพากษาโดยละเอียด “ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าว

และหลังจากนี้ ต้องดูว่า ทางฝั่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม. ) จะทำอย่างไรต่อเกี่ยวกับการประมูลครั้งใหม่ ที่กำลังจะเปิดให้เอกชนยื่นซอง ในวันที่ 27 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ซึ่งบริษัทได้มีคำถามไปยังรฟม. แล้ว ต้องรอคำตอบในวันพรุ่งนี้

เดี๋ยวก็คงต้องไปดูว่าทางฝั่งรฟม. เรื่องการประมูลที่กำลังจะมีการยื่นซอง วันที่ 27 กรกฎาคม เราก็มีคำถามเข้าไปเยอะก็รอพรุ่งนี้ ว่าทางรฟม.จะตอบคำถาม เพราะในนั้นมันมีอะไรที่เราคิดว่าอาจจะมีอะไรที่ไม่ชัดเจนหลายอย่าง เยอะมากก็จะรอฟังคำตอบพรุ่งนี้ รวมถึงคำพิพากษาวันนี้ก็คงมีผลด้วย ผมคิดว่าทางฝั่งรฟม. ต้องไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อเช่นเดียวกัน “ นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนคดีเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ยังค้างอยู่ในศาล ก็มีคดีที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เข้าใจว่าศาลนัดวันที่ 27 กันยายน เพื่อพิจารณาว่ามีมูลหรือเปล่า โดยกระบวนการไต่สวนพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว

ล่าสุดทางด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ยืนยันว่า รฟม. จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองภายใน 30 วัน แน่นอน หรือถ้ามีประเด็นกฎหมายเพิ่มเติม ก็สามารถขยายและเวลาในการอุทธรณ์ตามกฎหมายได้

ส่วนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก รอบใหม่ นายภคพงศ์ ยืนยันว่ากระบวนการจะเดินหน้าต่อไป เพราะที่ผ่านมา คดีนี้มีการฟ้องมาแล้ว 2 ครั้ง ในศาลปกครอง ซึ่ง ในครั้งแรกศาลปกครองได้มีคำสั่งยกในประเด็นที่ผู้ฟ้องขอให้ชะลอการประกวดราคารอบใหม่ รวมทั้งศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษายืนไปแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมีการชะลอการประกวดราคาครั้งใหม่ ที่ได้เริ่มต้นกระบวนการไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ระทึกกลางดึก เกิดไฟไหม้บ้าน 2 ชั้นวอดทั้งหลัง 5 ชีวิต พร้อมน้องแมว 7 ตัว รอดตายหวุดหวิด
"กรมอุตุฯ" เผยไทยตอนบน อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12 องศาฯ เตือนภาคใต้ 7 จังหวัด ยังมีฝน
สุดระทึก "กองทัพอากาศ" ส่ง F16 บินสกัดกั้น อากาศยานไม่ทราบฝ่าย โผล่ชายแดนไทย-เมียนมา
"สรรเพชญ" ไม่เห็นด้วย หากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ชี้ขายใกล้โรงเรียน-ชุมชน แพร่พิษร้ายให้เด็ก-เยาวชน
ผู้การชลบุรี บูรณาการทุกภาคส่วน เข้มมาตรการ ดูแลความปลอดภัยและการจราจรให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ในช่วงวันคริสต์มาสและเทศกาลเคาท์ดาวน์ 2567
พนักงานเซเว่น น้ำใจงามช่วยสาวลาว ขับเก๋งเสยแบริเออร์ล้อชี้ฟ้า เจ็บติดคารถ
เทศกาลส่งมอบความสุขวันคริสต์มาส
"ผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน" ยันไม่มีเหตุความไม่สงบฝั่งตรงข้ามชายแดน
ตร.วางแผนรวบ 2 ผู้ต้องหา ยึดของกลางยาบ้าล็อตใหญ่ แอบซุกกล่องพัสดุส่งจากเชียงราย
“รศ.ดุลยภาค” สำรวจชายแดน พบหลักฐานทหารว้าล้ำเขตแผ่นดินไทย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น