“กกพ.” อาจเคาะขึ้นค่า Ft งวดก.ย.-ธ.ค.65 ลุ้นค่าไฟสูงเกือบหน่วยละ 5 บาท

กกพ. เตรียมหารือปลายสัปดาห์นี้ พิจารณาปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่าเอฟที) งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 65 ซึ่งอาจเพิ่มขึ้น 90-100 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับขึ้นเกือบ 5 จากต้นทุนก๊าซ LNG นำเข้าแพงต่อเนื่อง รวมถึงปริมาณก๊าซอ่าวไทยไม่เป็นไปตามเป้า กังวลกฟผ. อาจต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มถึงแสนล้านบาทปลายปีนี้

รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ปลายสัปดาห์นี้ คณะกรรมการ กกพ. เตรียมพิจารณาทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย และอาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

 

ข่าวที่น่าสนใจ

สำนักงาน กกพ.จะมีการประกาศค่าเอฟที งวดเดือนก.ย.-ธ.ค.65 อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนก.ค. หรือต้นเดือนส.ค. นี้

สำหรับเหตุผลที่ค่าเอฟทีงวดใหม่สูงขึ้น เพราะ
– ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ยังมีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยราคาLNG นำเข้าตอนนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนพุ่งสูงแตะระดับ 30 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากเดิมอยู่ที่ 20 กว่าดอลาร์ต่อล้านบีทียู

– ภาระต้นทุนจากการอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยประมาณการค่าเฉลี่ยเดือนพ.ค. 2565 อยู่ที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม ขณะที่ปัจจุบัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม กกพ. ได้มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้า มาเป็น 4.00 บาทต่อหน่วย สาเหตุที่ทำให้เรียกเก็บที่ 24.77 บาท มาจากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ กกพ. ต้องปรับค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงในสถานการณ์ปัจจุบัน

ส่วนงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เรียกเก็บ ค่าเอฟที ในอัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ กกพ. กังวลกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทยยังขาดความชัดเจน ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับแทนประชาชนอีกกว่า 80,000 ล้านบาทในงวดก่อนหน้า ที่กกพ. อาจจะต้องเข้าไปดูแลช่วยลดภาระต้นทุนผ่านการทยอยปรับเพิ่มผ่านค่าเอฟทีด้วย ดังนั้น หากให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนต่อโดยไม่มีการทยอยคืนให้ผ่านการปรับเพิ่มค่าเอฟที ก็อาจทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับค่าเอฟทีถึง 100,000 ล้านบาท ภายในปีนี้

ตั้งแต่ต้นปี 2565 กกพ. ได้ทยอยปรับเพิ่มค่าเอฟทีโดยขอให้ กฟผ. แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนเป็นจำนวนเงินที่สูงดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาท ในช่วงที่มีการแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง

ขณะที่ ปัจจัยของความไม่แน่นอนจากปริมาณผลผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่ขาดช่วงระหว่างการเปลี่ยนผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ และแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมมีปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณป้อนเข้าสู่ระบบได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน จนถึงขณะนี้ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่สามารถแจ้งปริมาณที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ขาดหายไปได้อย่างชัดเจน ทำให้การบริหารจัดการ และการวางแผนทำได้ยากมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กกพ.ได้รับแจ้งเพียงว่า ระยะเวลาที่จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติกลับมามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในระดับเดิมก่อนเปลี่ยนสัมปทานอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสำรวจ ขุดเจาะ ผลิตอีกประมาณ 2 ปี หมายความว่า ค่าไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงราคาแพงจากการนำเข้า LNG ทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวอีกอย่างน้อย 2 ปีเช่นกัน และคาดการณ์ได้ว่า ไทยจะเผชิญกับภาวะค่าไฟแพงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ และต่อเนื่องตลอดทั้ง 2566

ที่มาของการคิดค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ = ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ค่า Ft (ค่าเอฟที) หรือค่าไฟฟ้าผันแปร = กำหนดเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต้นทุนการซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน และผลกระทบจากนโยบายของรัฐในเรื่องต่างๆ ซึ่งค่า Ft จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดยกกพ. จะกำกับดูแล การคำนวณให้สะท้อนราคาค่าเชื้อเพลิง ตามแนวโน้มราคาน้ามันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐในเรื่องการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนต่างๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ปภ.ประชุมด่วน ผู้ให้บริการ 3 เครือข่ายมือถือ ซักซ้อม-ปรับวิธีส่งข้อมูลแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS และ Cell Broadcast
"ยูเน็กซ์ อีวี" เปิดตัวแพลตฟอร์ม ขับเคลื่อนอัจฉริยะปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย พร้อมจับมือพันธมิตร ธุรกิจสร้างระบบนิเวศ EV ครบวงจร
"พาณิชย์–DITP" จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าระหว่าง ผู้ส่งออกสินค้าน้ำตาล-น้ำตาลแปรรูปกับผู้นำเข้าฟิลิปปินส์
“การรถไฟฯ” แจง ผลตรวจเหล็ก สร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
"ผบ.ทบ." เยี่ยมหน่วยตรวจเลือกทหารภาคใต้ ย้ำทุกกระบวนการยึดตามระเบียบ โปร่งใส
นาทีเดือด "กลุ่ม ศปปส." ปะทะ "แกนนำกลุ่มแรงงานพม่า Bright future" หลังจะมาตั้งม็อบประท้วงหน้า UN
"กรมทางหลวงชนบท" โร่แจง ไม่เคยเป็นคู่สัญญากับ "บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 "
"ก.แรงงาน" เตรียมถกแนวทาง "หลักประกันค่าชดเชย" กรณีถูกเลิกจ้าง 9 เม.ย.นี้
จนท.นำเครื่องจักรหนักเข้าพื้นที่โซน B ได้แล้ว ลุยตัดสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่
วอร์รูม “ก.แรงงาน” เร่งเครื่องจ่ายเงินเยียวยา เหยื่อแผ่นดินไหวแล้ว 17.4 ลบ.

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น