หลังจากมีรายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าหรือค่าเอฟที ในงวดใหม่เดือนกันยายนถึงธันวาคม 2565 มีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟฟ้าจากปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ต้องปรับเพิ่มเป็นเกือบ 5 บาท ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ โดยอ้างว่าสาเหตุมาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี ที่นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทย มีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยราคาแอลเอ็นจีนำเข้าแตะระดับ 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากเดิมอยู่ที่กว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทั้งนี้กกพ.จะประกาศค่าเอฟทีอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า
เปิดข้อมูลอีกด้าน ต้นเหตุค่าไฟแพง หลังจ่อปรับขึ้นเป็น 5 บ.
ข่าวที่น่าสนใจ
ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบสัดส่วนของแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบัน พบว่ามีดังนี้
อันดับ 1 มาจากก๊าซธรรมชาติ 57.8% ซึ่งไทยมีแหล่งผลิตราว 13 แห่ง แหล่งใหญ่คือ แหล่งบงกช ,แหล่งเอราวัณ และบงกชใต้ อย่างไรก็ตามได้เกิดปัญหาการเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตแหล่งก๊าซเอราวัณ จากเชฟรอนเป็นปตท.สผ.มีความล่าช้า ทำให้การผลิตไม่เป็นไปตามเป้า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่วันนี้ผลิตได้ราว 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น จึงต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี
อันดับ 2 นำเข้าถ่านหินและลิกไนต์ 16.2%
อันดับ 3 นำเข้า 12.2%
อันดับ 4 พลังงานทางเลือก 10.4%
อันดับ 5 พลังงานน้ำ 2.9%
อันดับ 6 น้ำมัน 0.5%
ส่วนกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศ อยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นกว่าเมกะวัตต์ แบ่งเป็น ผลิตเองจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. 35.13% รับซื้อจากเอกชน 64.87% ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ 32.78% ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก 20.84% และจากลาว และมาเลเซีย 12.55%
อย่างไรก็ตามมีข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ว่าปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของประเทศ ไม่ได้มีปัจจัยจากภาวะสงครามหรือราคาก๊าซธรรมชาติขยับสูงขึ้น ตามที่หน่วยงานด้านพลังงานกล่าวอ้างเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยสำคัญที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนอีก 5 สาเหตุด้วยกัน คือ
1.การวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่คำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเกินสมควร ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็น หรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ เห็นได้จากปัจจุบัน ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 46,136 เมกะวัตต์ แต่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนับแต่ปี 2562-2565 เพียงปีละประมาณ 30,000 เมกะวัตต์เท่านั้น หรือมีปริมาณเกินไปปีละ 10,000 เมกะวัตต์ หรือมีกำลังการผลิตสำรองสูงถึง 50% ขณะที่กำลังการผลิตสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15 เท่านั้น
2.โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการใช้ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้เงินค่าไฟฟ้าที่เรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” หรือ Take or Pay ซึ่งประมาณการว่ามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่ายมากถึง 49,000 ล้านบาทต่อปี
3.การที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มศักยภาพ เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบ จึงผ่องถ่ายการผลิตไฟฟ้าไปให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็กเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแทน
4. ค่าไฟฟ้าแพงเพราะประชาชนไม่ได้ใช้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากอ่าวไทยที่มีราคาต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบราคาก๊าซจากแหล่งอื่นๆ แต่ต้องใช้ราคา POOLก๊าซ หรือราคาผสมจากทุกแหล่ง ทั้งก๊าซที่ออกจากโรงแยกก๊าซ ก๊าซนำเข้าจากเมียนมา และ LNG ที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
5.ค่าไฟฟ้าแพงเพราะรัฐยังไม่ตระหนักถึงปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินอย่างจริงจัง และแทนที่รัฐจะหยุดหรือลดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่รัฐยังจะเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าในลาวเข้ามาอีก 2 โรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-