จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีการยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และทาง ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการตรวจสอบการบริหารงานของนางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ที่มีเหตุอันควรสงสัยหลายประการว่า นางอัศวินี อาจมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณในทางธุรกิจว่าด้วยเรื่องความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ รายการที่เกี่ยวโยงกัน และ การทำธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท และต่อมา ได้จัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐาน เพิ่มเติมเพื่อพิจารณาประกอบคำร้องที่ยื่นมาก่อนหน้า
รวมถึง ผู้ถือหุ้น ยังได้มีการร้องเรียนเพิ่มเติมกับเลขาธิการฯ ก.ล.ต. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการและบริหารงานบุคคลของประธานบอร์ด ผู้บริหาร และบอร์ดบางราย เกี่ยวกับการจัดจ้าง “สระสำรองน้ำสระสำนักบก” ที่จ.ชลบุรี ไม่โปร่งใส
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ในฐานะโฆษก ก.ล.ต. เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงความคืบหน้าประเด็นต่างๆ ข้างต้น ว่า ขณะนี้ ทางสำนักงานก.ล.ต. อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริง ซึ่งทางด้านผู้ถูกร้อง (อีสท์ วอเตอร์) ได้มีการยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้ทางก.ล.ต. แล้ว
โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาว่า ข้อมูลที่ได้รับนั้น มีประเด็นอะไรที่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ โดยคาดว่าจะได้ผลสอบในช่วง 1-2 เดือนหลังจากนี้
โฆษก สำนักงานก.ล.ต. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนผู้ถือหุ้นอีสท์ วอเตอร์ ร้องเรียนเรื่องต่างๆ มายังสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการร้องเรียนเรื่องการทุจริตโครงการอะไรต่างๆ นั้น ได้มีการชี้แจงมาบ้างแล้ว ซึ่งก.ล.ต. อยู่ระหว่างดูข้อเท็จจริง และอาจจะมีการสอบถามบริษัทให้ชี้แจงอีกต่อไป เพราะยังมีประเด็นเพิ่มเติมอีก ยังไม่จบ
ส่วนเรื่องที่ว่า การร้องเรียนดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนหรือไม่ เนื่องจากอีสท์ วอเตอร์ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โฆษก สำนักงานก.ล.ต. กล่าวว่า เรื่องนี้ คงต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งการพิจารณาของสำนักงานก.ล.ต. ต้องให้โอกาสบริษัทในการชี้แจง และดูข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ถึงจะตัดสินได้ว่าโอเค ไม่โอเคยังไง โดยจะต้องใช้ระยะเวลาเพื่อดำเนินการเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้การดำเนินการของก.ล.ต. ยังไม่ถึงขั้นตอนของการตัดสินและลงโทษผู้กระทำผิด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนของก.ล.ต.นั้น จะต้องตรวจข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากพบว่า การดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็จะมีขั้นตอนการลงโทษผู้กระทำผิดตามที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดไว้
” ก็ต้องไปดูว่า ผิดยังไง บริษัทผิด หรือทางด้านของกรรมการ ก็ต้องไปดูการทำหน้าที่ของกรรมการ ซึ่งก็มีมาตราที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้บอกว่าเค้าผิดหรืออะไร กระบวนการก็ต้องไปดูตามมาตรา 89/7 มั้ย หรือว่าต้องดูว่า มีการทุจริตหรือไม่ ก็จะมีขั้นตอนการลงโทษกรรมการต่อไป ” โฆษก สำนักงานก.ล.ต. กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของ “อีสท์ วอเตอร์” ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ได้ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. และทาง ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการตรวจสอบการบริหารงานของนางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ที่อาจจะมีการฝ่าฝืนจรรยาบรรณทางธุรกิจ ข้อบังคับบริษัท กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัท และความผิดตามหลายมาตราของหมวด 3/1 ว่าด้วยเรื่องการบริหารกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ในส่วนของหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารตามมาตรา 89/7 มาตรา 89/8 มาตรา 89/10 มาตรา 89/11 มาตรา 89/12 และมาตรา 89/14 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และหมวด 6 ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการตามมาตรา 85 มาตรา 88 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้ว
โดยตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของ “อีสท์ วอเตอร์” เน้นย้ำว่า จากข้อมูลที่ผู้ถือหุ้นมีอยู่นั้น พบว่ามีเหตุอันควรสงสัยหลายประการว่า นางอัศวินี ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ อาจมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณในทางธุรกิจว่าด้วยเรื่องความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ รายการที่เกี่ยวโยงกัน และ การทำธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท