วันที่ 12 ก.ค. 2565 นางลักขณา บุญนำ พาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร นำคณะสื่อมวลชนทั้งภายในจังหวัดมุกดาหาร และสื่อมวลชนส่วนกลาง ตลอดจนสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพ ทอผ้าไหมบ้านภู อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อประชาสัมพันธ์ ขั้นตอนกระบวนการผลิต ผ้าหมักโคลนหนองสูง ที่อยู่คู่ชาวบ้านมาตั้งแต่โบราณกาล และยังคงสืบทอดเทคนิคการทำผ้าหมักโคลนมาจนถึงปัจจุบัน จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ผ้าทอมือเส้นใยธรรมชาติของบ้านหนองสูงที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศ แต่ยังคงได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างประเทศด้วย
ภายใต้ชื่อ GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก นางสำหรับ งานไว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพ ทอผ้าไหมบ้านภู อำเภอหนองสูง ให้ข้อมูลว่าขั้นตอนการทำผ้าหมักโคลน ต้องใช้ความอดทนในการทำ เริ่มจากนำโคลนขึ้นมากรองด้วยตะแกรงเพื่อคัดกรองเอาพวกเม็ดกรวดเม็ดดินออกให้เหลือแต่เนื้อโคลนล้วน ๆ แล้วนำไปผสมน้ำและเกลือตามความเหมาะสม คนให้เข้ากัน นำเส้นใยผ้าฝ้าย หรือผ้าไหมลงแช่ในโคลนที่เตรียมไว้ โดยใช้เวลาในการหมักประมาณ 3-6 ชั่วโมง ซึ่งสีของเส้นใยจะอ่อนหรือเข้มขึ้นอยู่กับระยะในการหมัก เมื่อหมักได้เวลาที่ต้องการก็นำขึ้นมาบิด จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง พอเส้นใยแห้งก็นำไปล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำกลับไปตากแดดให้แห้งอีกครั้ง
จากนั้นจึงนำไปทำการย้อมสีตามที่ต้องการ โดยผ้าที่นำมาใช้หมักโคลนจะต้องเป็นผ้าทอเส้นใยธรรมชาติ และย้อมสีธรรมชาติ สีที่ได้มาจากการสกัดโดยใช้เปลือกไม้คลายสีออกมาแล้วนำไปต้มสกัดเอาน้ำสี จากนั้นก็ใส่เกลือ ทำการคนให้เข้ากันก็จะได้น้ำสีย้อม โดยผ้าหมักโคลนที่ทางกลุ่มทำออกจำหน่ายอยู่ในรูปของผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ จุดเด่นของผ้าหมักโคลน คือ เนื้อผ้าแห้งเร็วและเบาสบาย เนื้อผานุ่ม มีความมันวาว สีไม่ตก มีกลิ่นหอมละมุนของดิน บวกกับความเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจุดนี้เองทำให้เป็นจุดสนใจของลูกค้าต่างประเทศจำนวนมาก ด้วยคุณสมบัติเฉพาะทำให้ผ้าหมักโคลนหนองสูง ได้รับรองมาตรฐานการและขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นผลิตภัณฑ์ GI ของจังหวัดมุกดาหาร ใน ปี พ.ศ.2559
นางลักขณา บุญนำ พาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนครและกลุ่มสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คัดสรรสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI และมีศักยภาพทางการตลาด เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และประชาสัมพันธ์สร้างโอกาสทางการค้า ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สินค้า GI อีสานได้มีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและสู่สากล สำหรับสินค้าภายใต้ชื่อ “GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก” ประกอบด้วย สินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป เครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ ซึ่งภาคอีสานมี 18 แห่ง และที่โดดเด่นของจังหวัดมุกดาหาร คือ ผ้าหมักโคลนหนองสูง.
ภาพ/ข่าว อนุศักดิ์ – เสาวภา แสนวิเศษ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.มุกดาหาร