“กรมธนารักษ์” สุดยื้อพิพากษาท่อส่งน้ำ EEC แจ้งศาลปกครองเลื่อนส่งข้อมูล

"กรมธนารักษ์" สุดยื้อพิพากษาท่อส่งน้ำ EEC แจ้งศาลปกครองเลื่อนส่งข้อมูล

ติดตามต่อเนื่องกับปัญหาการประมูล โครงการท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (EEC) มูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องเพราะมีประเด็นสำคัญเริ่มต้นจากการที่ กรมธนารักษ์ ยกเลิกผลการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งปรากฎว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ชนะการประมูล แต่ต่อมาการประมูลครั้งที่ 2 กลับกลายเป็น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้รับชอบดำเนินโครงการ

จากนั้น บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ได้ทำการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความเป็นธรรม 2 ครั้ง ใน 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ยื่นคำร้องกรณีคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมธนารักษ์ มีคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และการออกประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่ เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย

โดยในเนื้อหาคำร้อง บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ระบุว่าเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 กรมธนารักษ์ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนมาประมูลโครงการดังกล่าว โดยเปิดรับซองเอกสารวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีอีสท์วอเตอร์ และเอกชนอีก 2 ราย ยื่นซอง ต่อมากรมธนารักษ์ ได้แจ้งยกเลิกการตัดเลือกเอกชนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 และปรับปรุงประกาศเชิญชวนใหม่ ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ไม่เห็นด้วยและทำหนังสือโต้แย้ง

รวมทั้งเห็นว่าคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประกาศเชิญชวนฉบับใหม่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับคำสั่งยกเลิก และไม่ก่อประโยชน์ให้รัฐ และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติผู้ยื่นประมูลให้ด้อยลง รวมทั้งมีเวลาให้อีสท์วอเตอร์เตรียมการประมูลรอบใหม่ไม่มาก โดยได้รับเอกสารประกาศเชิญชวนฉบับใหม่วันที่ 13 กันยายน 2564 และต้องยื่นข้อเสนอวันที่ 28 กันยายน 2564

ดังนั้น อีสท์ วอเตอร์ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ตามประเด็นคำร้อง ดังนี้

1.ขอเพิกถอนมติหรือคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564
2.ขอเพิกถอนประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564
3.ขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565
4.ให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ หยุดการกระทำละเมิด โดยงดการกระทำตามประกาศเชิญชวนเอกชนคเข้าคัดเลือกฉบับใหม่ลงวันที่ 10 กันยายน 2564

 

และ กรณีที่ 2.เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว เป็นการฉุกเฉินก่อนการพิพากษาคดีหลัก เนื่องจากบอร์ดที่ราชพัสดุ มีกำหนดประชุมเพื่อลงมติรับรองผลการประมูลครั้งที่ 2 โดยไม่รอคำพิพากษาศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ผู้รับผิดชอบ นำกรณีดังกล่าวไปพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนจะดำเนินการเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ทั้ง ๆ ที่ ศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษา คำร้องเรื่องการยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 ส่งผลให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยมี นายวิจักษณ์ อภิรักษ์นันท์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ประเด็นสำคัญคือ จากวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ลงนามในคำสั่งที่ สส 3/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ EEC ใน 3 ประเด็นหลักประกอบด้วย

1. ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2.ตรวจสอบทางกายภาพระบบท่อส่งน้ำ สถานีสูบน้ำ และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการส่งมอบและรับมอบ โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อการจัดทำระบบสาธารณูปโภคและหรือผู้ใช้น้ำ

3.พิจารณาข้อมูลปริมาณน้ำที่ส่งให้แก่ผู้ใช้น้ำ เปรียบเทียบกับลักษณะทางกายภาพของท่อส่งน้ำว่ารายได้ที่นำส่งเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด

 

 

ปรากฏว่า หลังจากครบกำหนด ส่งผลตรวจสอบภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 และ ขยายเวลาการตรวจสอบอีก 30 วัน จนถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านนมา ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใด ๆ จาก นายอาคม รมว.คลัง ว่า จะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร จากผลตรวจสอบของคณะกรรมการฯ นอกจากจะชี้แจงกับ Top News สั้น ๆ ว่า ขอพิจารณารายละเอียดผลตรวจสอบที่ได้รับมาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ รวมถึงภายหลังการประชุมครม. ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายอาคม ยังคงเลี่ยงจะตอบคำถามประเด็นนี้อีกครั้ง โดยการเลือกเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ในจุดที่ไม่มีสื่อมวลชนเฝ้ารอสัมภาษณ์

ในขณะที่ นายประภาส คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุกับ TOP NEWS เช่นเดียวกัน ว่ายังรอคำสั่งจากรมว.คลัง แต่สำหรับกรมธนารักษ์ พร้อมจะเดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างทันที เพราะทุกอย่างได้เตรียมการไว้หมดแล้ว

“ ถ้าท่านสั่งการมาแล้ว แล้วพบว่าไม่มีอะไรผิดกฎหมาย ก็ต้องเร่งดำเนินการด้วยซ้ำไป เพราะตอนนี้ถือว่ากระบวนการมีความล่าช้า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความเสี่ยงในเรื่องความรับผิดทางละเมิด เพราะถือเป็นการทำให้ขัดขวางผลประโยชน์ของรัฐ หรือ ถ้ารัฐมนตรีสั่งการมาแล้วว่า ไม่มีอะไรผิด หรือไม่ถูกต้อง ให้ดำเนินการต่อไป เราก็ไม่ควรล่าช้า เนื่องจากจะกลายเป็นประเด็นอื่นเกิดขึ้นมา “ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวกับ TOP NEWS

ส่วนข้อคำถามว่า มีเหตุจำเป็นต้องรอคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองหรือไม่ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวย้ำว่า การลงนามในสัญญาโครงการฯ ไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครอง
“ไม่มีเหตุต้องรอ ในเมื่อศาลสั่งไม่คุ้มครอง ถ้าศาลสั่งคุ้มครองก็จบ พอศาลสั่งไม่คุ้มครอง ที่นี้ก็เป็นเหตุในทางฝ่ายบริหาร ถ้าบอกว่าอยู่ ๆ จะไปรอคำสั่งศาล รอโดยอะไร โดยมติของใคร เพราะว่าคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติออกมาแล้วว่าไม่รอ คือเห็นชอบตามข้อสรุปของกรมธนารักษ์”

 

ขณะเดียวกันเมื่อ Top News ตรวจสอบเพิ่มเติมกับศาลปกครอง พบว่า หลังจากที่ศาลปกครอง กำหนดให้กรมธนารักษ์ ยื่นข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องของ บริษัท อีสท์ วอเตอร์ ภายในวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา และมีกำหนดจะเร่งสรุปสำนวนคำร้องเพื่อพิพากษาหรือวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ให้เร็วที่สุดภายในเดือนก .ค.นี้ ถ้าข้อมูลทั้งหมดสมบูรณ์ ครบถ้วน

ปรากฎว่าล่าสุด ทางผู้ถูกร้อง ได้แจ้งขอขยายระยะเวลานำส่งเอกสาร ข้อมูล ประกอบการไต่สวนคำร้อง ไปอีก 30 วัน และ ศาลปกครอง มีความเห็นอนุมัติ โดยสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง หมายถึง คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ กรมธนารักษ์ ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2565 นี้ ทั้งที่คดีดังกล่าวยืดเยื้อมานาน และกรมธนารักษ์ มั่นใจว่า การดำเนินทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใส ชอบธรรม

และศาลปกครอง เคยมีความเห็นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ระบุชัดเจนว่า กรณีนี้หากการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย

เนื่องจากมาตรา 119 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บัญญัติให้การฟ้องคดีไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จึงย่อมทำให้การฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากมติหรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกครั้งแรก

ประกอบกับโครงการพิพาทมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เอกชนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอและทันต่อการณ์ โดยบริหารจัดการเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคตะวันออก

ดังนี้ หากการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอาจเป็นอุปสรรคแก่การบริการสาธารณะด้านการให้บริการสาธารณูปโภค

ศาลจึงมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วนตามข้อ 49/2 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543

และจากกระบวนการที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า กรมธนารักษ์ และ ผู้เกี่ยวข้อง มีเจตนาจะประวิงเวลา ขั้นตอนยุติธรรมของศาลปกครอง หรือ ไม่ อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลปกครองให้ความเห็นว่า “หากการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าทำสัญญา ในโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไป จนมีการลงนามในสัญญา ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอครั้งแรกได้รับความเสียหาย ตาม “พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560”

รวมถึงความชัดเจนของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ว่าจะดำเนินการอย่างไร กับผลตรวจสอบจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมา โดยเฉพาะจะยินยอมให้กรมธนารักษ์ เดินหน้าเซ็นสัญญากับ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง โดยไม่รอคำพิพากษาศาลปกครอง ภายใต้ความเสี่ยงกับค่าโง่ที่ภาครัฐ อาจต้องชดใช้ให้กับภาคเอกชน หรือไม่ จากการที่กรมธนารักษ์เลือกจะล้มผลการประมูลท่อส่งน้ำ EEC ครั้งที่ 1 แล้วตัดสินใจยึดเอาผลประมูลครั้งที่ 2 ให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการแทน บริษัท อีสท์ วอเตอร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น