"กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์" NASA เผยภาพถ่ายอินฟราเรดของส่วนลึกที่สุดในอวกาศที่มนุษยชาติเคยถ่ายมา
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา นาซา (NASA) ได้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาให้กับวงการวิทยาศาสตร์อีกครั้ง ด้วยการปล่อยภาพถ่ายส่วนที่ลึกที่สุดของจักรวาลภาพแรกในประวัติศาสตร์ของโลก หลังก่อนหน้านี้ ได้ส่ง “กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์” (James Webb Space Telescope – JWST) ออกไปไกลที่สุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในที่สุด ก็สามารถได้ภาพถ่ายอินฟราเรดของส่วนลึกที่สุดในอวกาศที่มนุษยชาติเคยถ่ายมาสักที ถือเป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเป็นหนึ่งในผลงานทางวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ และเป็นความพยายามด้านอวกาศระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์!
“กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์” JWST ตั้งชื่อตามผู้ดูแลคนที่ 2 ของ NASA คือ James E. Webb ซึ่งเป็นผู้นำภารกิจ Apollo ที่ลงจอดมนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ โดยกล้องตัวนี้ได้บันทึกภาพของกระจุกกาแล็กซี่ SMACS 0723 หรือที่เรียกกันว่า “Deep Field” ซึ่งปรากฏเมื่อ 4.6 พันล้านปีก่อน โดยมีกาแล็กซี่อื่นหลายพันกาแลกซี่ ล้อมรอบกระจุกดาราจักร รวมถึงโครงสร้างเล็ก ๆ จาง ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน จากที่เรามองอาจจะคิดว่าภาพดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก แต่ในความจริงแล้วภาพที่เราเห็นมีขนาดเท่าเศษเม็ดทรายเท่านั้น หากเทียบกับขนาดของจักรวาลทั้งหมด
ภาพถ่ายของกระจุกกาแล็กซี่ SMAC 0723 นี้ เป็นภาพมวลของกาแล็กซี่จำนวนมหาศาลที่ทำหน้าที่เหมือนเลนส์ที่สร้างจากแรงโน้มถ่วง ดึงแสงจากกาแล็กซี่ที่ห่างไกลออกไปอีกให้มาอยู่ในระยะโฟกัสของกล้องฯ เจมส์ เว็บบ์ โดยลักษณะของกาแล็กซี่เหล่านี้มีโครงสร้างแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งแบบกระจุกดาวและแบบกระจัดกระจาย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้นักวิจัยสามารถศึกษาเกี่ยวกับมวล อายุ ประวัติศาสตร์ของกาแล็กซี่เหล่านี้ ในขณะที่กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์ ดำเนินภารกิจในการหากาแล็กซี่ที่เก่าแก่ที่สุดในจักรวาลต่อไป
โดยภาพแรกเป็นภาพของ เนบิวลากระดูกงูเรือ (Carina Nebula) เนบิวลาที่ใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดในท้องฟ้า อยู่ห่างออกไปประมาณ 7,600 ปีแสงในกลุ่มดาวคารินาทางใต้ เป็นแหล่งกำเนิดของดาวมวลมากจำนวนมาก ซึ่งใหญ่กว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า
ภาพต่อมา เป็นภาพของกลุ่มกาแล็กซี่ Stephan’s Quintet ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 290 ล้านปีแสง ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวเพกาซัส ดาราจักรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มดาราจักรขนาดเล็กกลุ่มแรกที่ค้นพบในปี พ.ศ. 2420
และภาพสุดท้าย คือ Southern Ring Nebula หรือเนบิวลา “Eight-Burst” หรือเนบิวลาที่เกิดจากกกลุ่มแก๊สที่ลอยตัวอยู่รอบ ๆ ดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายลง อยู่ห่างออกไปจากโลก 2,000 ปีแสง และมีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดครึ่งปีแสงเลยทีเดียว
ข้อมูล : NASA และ Google Doodle
ข่าวที่เกี่ยวข้อง