เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนาและศูนย์ตนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตพลังงาน ส่งผลให้สินค้าราคาแพงจนประชาชนเดือดร้อนในขณะนี้ว่า เรื่องไฟฟ้าเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้วิกฤตเศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว มีปัญหาหลายๆ ด้าน ซึ่งเงินเฟ้อแนวโน้มจะสูงมาก และแนวโน้มของโลกขณะนี้ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มจะถดถอย และอาจมีผลกระทบไปยังประเทศทั่วโลก เราต้องระมัดระวังเตรียมมาตรการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยและไม่ให้มีอะไรกระทบแรงๆ จนทำให้ประชาชนรับไม่ไหว ฐานะเศรษฐกิจของเราตอนนี้มีความอ่อนไหวมาก พื้นฐานของปัญหามาจากโควิดและน้ำมันแพงก็เป็นต้นเหตุที่สำคัญ ทำให้ของแพงเป็นภาระและปัญหาสำคัญเร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลและแก้ไข มีมาตรการและความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อจะช่วยลดระดับเงินเฟ้อ และค่าครองชีพต่างๆ ของแพงต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมัน และ ค่าไฟ และเรื่องต่างๆ
“สุวัจน์” ห่วงเรื่องปรับค่า Ft ขอให้ทบทวนผ่อนปรน หาพลังงานทดแทน ลดภาระ - คลายความเดือนร้อนของประชาชน
ข่าวที่น่าสนใจ
“พูดถึงเรื่องค่าไฟ ขณะนี้คณะกรรมการกิจการพลังงาน กำลังพิจารณาเรื่องค่า Ft ที่จะเก็บประชาชน ซึ่งมีความเป็นห่วง เพราะค่า Ft ก็คือ การปรับค่าไฟ ค่าไฟบ้าน ค่าไฟพื้นฐาน เท่าไร ค่าปรับราคาเท่าไหร ต้นทุน เช่น แก๊ส แพงขึ้นซึ่งทำให้ค่า Ft สูง ในรอบ 4 เดือน ก่อนเดือนสิงหาคมที่จะถึงค่า Ft ประมาณ 24 สตางค์ ค่าไฟพื้นฐานก็ 4 บาทกว่า ซึ่งได้มีข่าวไม่เป็นทางการว่าจะปรับค่า Ft ประมาณอีก 1 บาท ซึ่งเหมือนกับขึ้นประมาณ 4 เท่า ในช่วงเวลา 4 เดือน เกรงว่าจะเป็นภาระพี่น้องประชาชนมากๆ” นายสุวัจน์ กล่าว
นายสุวัจน์ กล่าวว่า หากคณะกรรมการหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะได้พิจารณาค่า Ft ให้รอบคอบ ซึ่งค่า Ft จะขึ้นมาตามสูตรที่คำนวณเอาไว้ เช่น ออกมา 1 บาท ถ้าในกรอบและกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ก็อยากให้พิจารณาและทบทวน หรือที่จะสามารถผ่อนชำระ แบ่งในการชำระ แต่ละงวด แบบขั้นบันได แล้วค่อยๆ พลัดขึ้นไปเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน เพราะค่าครองชีพขึ้นทุกอย่าง ถ้าเราสามารถลดผลกระทบ ลดค่า Ft หรือมีการที่จะขึ้นเป็นขั้นบันได เป็นงวด เพื่อจะไม่ให้โหลดที่เดียว 1 บาท ถ้าเทียบกับของเก่า 24 สตางค์ กลัวว่าพี่น้องจะมีผลกระทบมาก ก็อยากจะฝากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล และลดภาระแบ่งปันให้ประชาชน ซึ่งนอกจากมีมาตรการชั่วคราวแล้ว เราควรดูโครงสร้างหลักของราคาค่าไฟไปด้วย ต้องมีการปรับแผน เพราะวันนี้ต้นทุนค่าไฟที่ผลิตจากการไฟฟ้าการผลิตส่วนใหญ่ปัจจุบันน้ำหนักมาจากไฟ จากผลิตจากแก๊ส ซึ่งแก๊สตอนนี้แพงทำให้ค่าไฟสูง ตอนนี้มีการใช้พลังงานทดแทน พลังงานลม พลังแสงแดดภายในประเทศ เป็นพลังงานหลักของไทยต้นทุนต่ำ ไม่ต้องซื้อ
นายสุวัจน์ กล่าวว่า การลงทุนเรื่องพลังงานทดแทนแสงอาทิตย์ ตอนนี้คนที่ลงทุน 5-6 ปีก็ได้คืนทุนแล้ว ถ้าเราสามารถที่จะปรับสัดส่วนโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ขณะนี้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่มาจากแก๊สธรรมชาติมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังทดแทน เช่น ลม แสงแดด มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ฉะนั้นการที่เราจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนก็จะลดค่า Ft และค่าไฟ จะไม่เป็นภาระประชาชน ตอนนี้การไฟฟ้ามีโครงการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ ผิวน้ำบนเขื่อน เช่นที่เขื่อนสิรินธร ถือว่าดีมากจะได้ไฟราคาถูก ถ้าเรามาปรับแผนการพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ ในการใช้พลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนที่สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนกระแสไฟฟ้าโดยภาพรวมค่า Ft ก็จะลดลงด้วย
นายสุวัจน์ กล่าวว่า ฉะนั้นโครงการต่างๆเหล่านี้มันต้องทำเสริมกันในการดูแลเรื่องค่า Ft อย่าไปขึ้นที่เดียว ด้วยภาระที่หนักอึ้ง ขณะเดียวกันก็ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศด้วยการกระจายไปยังพื้นฐานของพลังงานต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ถูกที่สุด เราเคยพูดว่าบ้านเราอาจไม่มีน้ำมันดิบ แต่เรามีน้ำมันสีเขียว คือ พวกเอทานอล ที่ผลิตจากอ้อย ผลิตจากมันสำปะหลัง จริงๆเราเคยมีโครงการอยู่แล้วในการที่จะเอาเอทานอลมาแทนน้ำมันเบนซิน เคยใช้แต่เมื่อราคาน้ำมันถูกลงก็อาจไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่วันนี้เมื่อราคาน้ำมันมีราคาสูงขึ้นมาก ตนว่าเราต้องคิดทุกวิถีทาง น้ำมันสีเขียว น้ำมันจากภาคเกษตรมาใช้ หรือการจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมให้มากขึ้น การดูแลเรื่องค่า Ft ต่างๆตนว่าต้องเก็บเล็กผสมน้อยใช้ทุกมาตรการ หรือแม้กระทั่งการประหยัดพลังงาน วันนี้ตนคิดว่าน่าจะเริ่มมีแคมเปญกันได้แล้วในการประหยัดพลังงาน การปรับอุณหภูมิต่างๆ ของแอร์ หรือการใช้จักรยาน การรณรงค์ในเรื่องการประหยัดพลังงานทุกมาตรการเพื่อให้เกิดพลังในการที่จะมีพลังในการลดค่าไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าครองชีพโดยภาพรวม วันนี้ต้องทำทุกวิถีทางในการที่จะดูแลเรื่องผลกระทบเรื่องเงินเฟ้อ เรื่องราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง