เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “เนื่องด้วยมีความเห็นจากประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดจนมีข้อสงสัยว่า ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของสมาชิกรัฐสภาในการถอดกัญชาออกจากประมวลกฎหมายยาเสพติด หรือการที่คณะกรรมการยาเสพติด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดลงมติถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ และคงเหลือเอาไว้เฉพาะ “สารสกัด” ที่มี THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักเป็นยาเสพติดต่อไป แต่ยังคงให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ เป็นการดำเนินการตามอำเภอใจหรือไม่และไม่เป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติหรือไม่ จึงขอทำความเข้าใจว่าในความเป็นจริงแล้ว นโยบายกัญชาของประเทศไทยได้ดำเนินตามมติคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด ขององค์การอนามัยโลก และสอดคล้องไปกับมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ ที่เห็นประโยชน์ของกัญชามากกว่าโทษ รวมทั้งได้ทำการชั่งน้ำหนักประโยชน์และโทษของกัญชาแล้วจึงเห็นว่า ต้นไม้ไม่ว่าส่วนใดของกัญชา รวมถึงช่อดอกกัญชาก็ไม่ควรเป็นยาเสพติดอีกต่อไป เว้นแต่ “สารสกัด” ที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 เท่านั้น ที่จำเป็นจะต้องมีการควบคุมในฐานะยาเสพติดแต่ก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ได้”
นายปานเทพ ระบุต่อว่า “และการที่ประเทศไทยได้ดำเนินการปลดล็อกทุกส่วนของกัญชาออกจากประเภทยาเสพติด และคงเหลือเอาไว้เฉพาะสารสกัดที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก ยังคงเป็นยาเสพติดแต่ยังคงไว้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น จึงเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกทั้งสิ้น การเสนอการปลดล็อก “กัญชา” ขององค์การอนามัยโลก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 นั้น ได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ ซึ่งผ่านการประชุมจากผู้เชี่ยวชาญ 600 คนจาก 100 กว่าประเทศตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2563 ซึ่งทำให้เป็นที่ยอมรับคุณค่าการบำบัดทางการแพทย์ของ “กัญชา” และจุดเปลี่ยนที่สำคัญในเวลาต่อมา คือคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ ได้ลงมติเสียงข้างมาก 27 ต่อ 25 เสียงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 สิ่งที่ได้มาคือการลงมติครั้งที่ 63/17 ว่า “ให้ช่อดอกกัญชาที่มียาง และยางกัญชาลบออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961”