กลายเป็นปัญหาคาราคาซังต่อเนื่องมากว่า 3 ปี กับข้อสรุปการบริหารจัดการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง ณ วันนี้ ทุกคนทราบดีว่าจุดเริ่มมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเรื่อง การพัฒนาระบบขนส่งประเทศ และ การแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ( ส่วนต่อขยาย) ที่ค้างคามาจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
จึงเป็นที่มาของคำสั่งคสช. 3/2562 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 ให้ใช้อำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 โอนความรับผิดชอบ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) จากรฟม.ให้กทม.รับผิดชอบ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นระบบเดียวกัน
พร้อมกันนี้ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีปลัดมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง , ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ , เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , อัยการสูงสุด , ผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง เพื่อให้ศึกษาแผนการร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างภาครัฐและเอกชน
โดยเฉพาะการพิจารณาความเหมาะสมแนวทางการแก้ปัญหา ภายหลังการโอนย้ายความรับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก รฟม.มาให้ กทม. เนื่องจากทำให้กทม.มีภาระหนี้สินต้องรับผิดชอบ 3 ส่วนหลัก คือ
1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,710 ล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 13,343 ล้านบาท ( โดยประมาณ)
2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,088 ล้านบาท ( โดยประมาณ)
และ 3.ภาระหนี้งานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากการรับโอนโครงการจาก รฟม. ในปี 2561 จำนวน 55,704 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปี 2564-2572 อีกประมาณ 13,401 ล้านบาท รวม 69,105 ล้านบาท
จากนั้น ตั้งแต่ปี 2562 ก็มีการพิจารณา เรื่องแผนการร่วมทุนรัฐ เอกชน มาโดยตลอด เพื่อทำให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีระยาวทางยาวที่สุด ถึง 68.25 กม. อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระประชาชนหรือผู้บริโภค หรือ สูงสุดไม่เกิน 65 บาท พร้อมข้อสรุป เรื่องการขยายอายุสัมปทาน อีก 30 ปี ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเดิมจะครบกำหนดอายุสัมปทานในปี 2572
และข้อสรุปดังกล่าว ได้มีการนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.หลายครั้ง เพียงแต่ยังไม่มีการลงมติตามความเห็นของกระทรวงมหาดไทย เนื่องด้วยข้อทักท้วงของกระทรวงคมนาคม และดูเหมือนปัญหาจะยืดเยื้อจนหาทางออกไม่ได้ ในขณะที่ภาระหนี้สินระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม ในฐานะวิสาหกิจกรุงเทพมหานคร (กทม.) .กับ BTSC มีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกวัน จากค่าจ้างเดินรถเฉลี่ยประมาณเดือนละ 600 ล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยด้านการลงทุน ที่ BTSC ต้องแบกรับแทน บริษัท กรุงเทพธนาคม
ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2565 หลังจากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้าบริหารกทม. แทน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง กรณีของรถไฟฟ้าสายสีเขียว กลับถูกนำไปให้กทม.พิจารณาอีกครั้่ง ทั้่ง ๆ ที่ขั้นตอนความเห็น หรือ ข้อสรุป เรื่องอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ผ่านพ้นมาถึงหน้าที่ดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย กับการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของที่ประชุมครม. แล้ว