วันที่ 9 ก.ค. 2564 เฟซบุ๊กเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดีฯ ได้โพสต์ข้อความแจ้งว่า
หมอและครอบครัวติดเชื้อโควิด
ซึ่งหมอมีประวัติสัมผัสบุคลากรที่มาทราบทีหลังว่ามีการติดเชื้อ หมอใส่หน้ากากป้องกันตลอดเวลาขณะทำงาน และไม่ได้กินข้าวร่วมกับใครในระยะเวลาที่มีความเสี่ยง ทาง IC รพ.ประเมินว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ แต่ให้ไปตรวจ เพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์
ตรวจครั้งแรก ผลเป็นลบ ทางหน่วยสอบสวนโรคติดเชื้อของ รพ. ประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำ เพราะ “ฉีดวัคซีนครบ” ใส่แมสก์ตลอดเวลา ให้ทำงานได้ตามปกติ ช่วงค่ำๆ ก่อนวันตรวจซ้ำ หมอมีไข้ต่ำๆ คัดจมูก กินอาหารเหมือนไม่ค่อยรู้รส เลยชวนสามีไปตรวจด้วยกัน ผลเป็นบวกทั้ง 2 คน จากการสอบสวนโรค คาดว่าเราน่าจะได้รับเชื้อมาจากโรงพยาบาล เพราะไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ
หมอส่งไทม์ไลน์ให้ทาง IC ของ รพ. และได้แจ้งกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ เราสองคนทำงานเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ เราไม่ได้เป็นบุคลากรด่านหน้า แต่ก็ยังต้องทำงานพบปะกับคนไข้มากมาย ขณะนี้มีบุคลากรในโรงเรียนแพทย์ทยอยติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก มีหอผู้ป่วยต้องปิดไปหลายวอร์ด เราสองคนมีความระมัดระวังสูงมากพอสมควร ไม่ได้ถอดแมสก์ขณะทำงาน และไม่ได้ทานข้าวกับใครในระยะที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้เราทั้งคู่ฉีด Sinovac ครบสองเข็ม เข็มสุดท้ายเมื่อประมาณสองเดือนก่อนพอดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ว่าติดโควิด สิ่งที่ยากลำบากไม่ใช่เพียงแค่การต้องเผชิญกับความกลัวสิ่งที่จะเกิดขึ้น แล้วแค่ปลอบใจตัวเองได้ว่า เราไม่น่าตาย เพราะฉีดวัคซีนที่น่าจะช่วยกันตายได้ แต่มันหมายถึงความเสี่ยงของทุกคนที่อยู่รอบข้างเรา ถ้าลูกตรวจมาว่ายังไม่ติด หมอจะเอาลูกไปอยู่ที่ไหน? เพราะทุกบ้านที่ส่งไปเราก็ไม่อยากให้เค้าต้องรับกับความเสี่ยง? แล้วลูกจะติดจากเราไหม? ถ้าลูกเป็นอะไรเราไปดูลูกไม่ได้ เราต้องใจจะขาดแน่ๆ
คุณพ่อที่มีโรคเรื้อรังมากมายจะติดไหม? ถ้าคุณพ่อติดไป หมอก็คงต้องเตรียมทำใจ แม่บ้านที่อยู่กับเรายังไม่ได้วัคซีนเพราะยังไม่ถึงคิว เขาจะแย่มากไหม? คนไข้ที่เราเจอเขามากมายขณะที่เราไม่รู้ตัว จะติดไปรึเปล่า? คนรอบตัวที่เรายังเจอเขาอยู่บ้าง จะโกรธเราไหมที่ทำให้เขาต้องเดือดร้อน งานที่กำลังต้องทำมากมาย ใครจะเป็นคนทำ ฯลฯ
นี่ขนาดหมอ คือ คนที่ถือว่ามี privilege ในสังคม มีบ้านที่มีห้องแยกหลายห้องถ้าจะต้องรอเตียง มีความเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำให้เราน่าจะเข้าถึงบริการได้ไม่ยาก ยังรู้สึกว่าอะไรๆ มันยากไปหมด ต้องใช้พลังใจสูงมากๆ แล้วชาวบ้านทั่วไปละ
การติดเชื้อของคนๆ หนึ่ง ส่งผลกระทบต่อคนหลายคน โดยเฉพาะคนที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ คนไข้จำนวนมากของหมอถูกยกเลิก สามีต้องยกเลิกเคสที่นัดผ่าตัด คนใกล้ชิดต้องกักตัว ที่สำคัญ ขณะนี้หมอกำลังมองลูกสาววัย 8 ขวบที่ไข้ขึ้นสูง ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อไปด้วย กับแม่บ้านที่ยังไม่ได้วัคซีน แต่เริ่มมีอาการเหมือนเหนื่อยๆ พร้อมได้ยินคำพูดแว่วๆ ว่า “อย่าเห็นแก่ตัว” ด้วยหัวใจที่รู้สึกเจ็บปวดอย่างบอกไม่ถูกจริงๆ
สุดท้าย หมออยากกราบขอบพระคุณ คุณหมอรุ่นใหม่ๆ หลายท่าน ที่ออกมายืนยันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เริ่มต้น ว่าเราควรมีวัคซีน mRNA ให้กับประเทศไทย โดยต้องทนแรงกดดัน ทนการถูกต่อว่าจากผู้มีอำนาจ ทนการถูกกล่าวหาว่าชังชาติ แต่ยังยึดมั่นในหลักวิชาการที่ถูกต้อง และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม พร้อมเชิญชวนให้ไปฉีดวัคซีนเท่าที่มี เพราะอย่างน้อยมันก็อาจทำให้เรามีโอกาสที่จะรอด
นอกจากนี้ อยากขอบคุณคนไทยทุกคนที่ส่งเสียงเรียกร้องวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีพอ ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ มันไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่นี้คือเรื่องของส่วนรวม “เพราะเมื่อเราล้ม คุณจะล้ม” ส่วนตัวหมอเชื่อว่า “พลังบวก” ไม่ได้แปลว่าเราควรเลือกเขียนถึงแต่สิ่งดีๆ โดยละเลยทำเป็นมองไม่เห็นปัญหาที่มีอยู่ตรงหน้าเต็มไปหมด
แต่พลังบวกเกิดขึ้นจากการ พูด “ความจริง” ที่เกิดขึ้น วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา มี “empathy” กับคนที่เขามีความเดือดร้อน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่อยู่ในสถานะที่มี Privelege อย่างพวกหมอ ที่สำคัญ คือ “ช่วยส่งเสียง” สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะส่งเสียง ยังเชื่อมั่นใน “พลังบวก” ของสังคมเสมอ