กรุงเทพธนาคม-BTSC ถกแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวนัดแรก

กรุงเทพธนาคม(เคที) หารือบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) นัดแรกวันนี้(18 ก.ค.65) ในหลายประเด็นปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งการเปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว โดยบีทีเอสซี ขอข้อสรุปที่ชัดเจนจากกทม. เหตุต้องเตรียมระบบ และแจ้งให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้า ส่วนจะเก็บค่าโดยสารในอัตราเท่าใด เป็นเรื่องของกทม.

วันที่ 18 ก.ค.65 ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ได้นัดหารือร่วมกับนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และคณะเป็นครั้งแรก ในประเด็นปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งใช้ระยะเวลาหารือร่วมกันประมาณ 45 นาที

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวภายหลังการหารือ ว่า ต้องขอขอบคุณ BTSC ที่ตอบรับคำเชิญร่วมพูดคุยหารือร่วมกัน เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ และนำไปสู่การพูดคุยต่อไป ซึ่งการหารือวันนี้ ได้มีการแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่กทม. จะเปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถ หลังจากที่เคทีได้มีการส่งสัญญาให้แก่ กทม.ไป ซึ่งทางผู้บริหารของ BTSC ได้กล่าวว่า ในการเปิดสัญญาจะต้องมีความเท่าเทียมกันกับบริษัทอื่นที่ดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้าอื่น ซึ่งตนจะนำไปแจ้งให้ผู้บริหารกทม.ทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ขณะเดียวกัน ได้หารือถึงคดีความที่ค้างอยู่ในศาลปกครอง เรื่องการเรียกร้องค่าจ้างเดินรถตามสัญญาซึ่งกทม. ยังค้างจ่ายอยู่ขณะนี้ โดยจะยังให้คดีดังกล่าวดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป แต่ก็จะมีการเจรจาและหารือร่วมกันในเรื่องของตัวเลขมูลหนี้ต่างๆ ที่ยังมีความเห็นต่าง ให้มีความเข้าใจตรงกันและเป็นแนวทางให้การชำระหนี้ต่อไป ซึ่งหากสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องรอการพิจารณาของศาล เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของมูลหนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน และนำมาสู่การถอนฟ้อง ยุติคดีความ โดยจะตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่าย ในการศึกษาและนำข้อมูลมาหารือพร้อมกัน

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ระบุอีกว่า จากการต่อสัญญาสัมปทานที่จะยาวไปถึงปี 2585 มาถึงวันนี้ ล่วงเลยมา 10 ปีแล้ว อาจจะมีการรื้อสัญญาขึ้นมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง ซึ่งทาง BTSC เห็นพ้องให้มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย โดยต้องอยู่บนข้อมูล เหตุผลที่พิสูจน์ได้

อีกทั้งในบางเรื่องที่ไม่เคยปรากฏในสัญญาการเดินรถ เช่น ค่าโฆษณา ที่ติดประชาสัมพันธ์อยู่ข้างรถไฟฟ้า อาจจะมีการพิจารณาทบทวนร่วมกัน เนื่องจากเป็นรายได้ที่เพิ่มเข้ามา รวมถึง เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ หากมีผลกระทบ หรือ การเปลี่ยนแปลงถึงสัญญา ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้มีความชัดเจนตามกลไกในปัจจุบันมากขึ้น

สำหรับการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว จะต้องมีการวางแผนร่วมกัน โดยกทม.จะต้องเป็นผู้กำหนดราคาขึ้นมาก่อน จากนั้นทาง BTSC ขอเวลาทำระบบจะเป็นผู้วางระบบรวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ โดยจะใช้เวลาล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบ ส่วนตนเองนั้น ไม่ทราบว่าค่าโดยสารจะอยู่ในอัตราเท่าใดเพราะตนเป็นเพียงผู้ส่งสารเท่านั้น

“การเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย แม้ไม่ได้เป็นหน้าที่ของกรุงเทพธนาคมโดยตรง เป็นภารกิจที่เป็นการตัดสินใจของกทม. ผมก็รับเป็นบุรุษไปรษณีย์ เค้าฝากไปแจ้งทางกทม.ด้วยว่าในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ในภาคสนาม เค้าอยากขอเวลา เมื่อการตัดสินใจกทม.ของมีความชัดเจนว่าจะเพิ่มราคา จะกำหนดราคาเป็นจำนวนเท่าไร เค้าก็ต้องไปทำในเรื่องระบบ ป้าย ตัวเลขหน้าจอ ขอใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็จะรีบนำประเด็นนี้เรียนให้ทางผู้บริหารกทม.ได้ทราบเหมือนกัน “ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าว

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า วันนี้ทางบอร์ดเคที ได้มีการเล่าให้ฟังในหลายเรื่องและมีการพูดถึงในประเด็น เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลสัญญาการจ้างเดินรถ BTSC ไม่ได้มีปัญหาในการเปิดเผยข้อมูลแต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน เนื่องจากว่าปัจจุบันผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมีไม่กี่สายและมีการแข่งขันกันผ่านการประมูลต่างๆ ดังนั้น ในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลหากผู้ให้บริการท่านอื่นเปิดเผยอย่างไรทาง BTSC ก็พร้อมที่จะเปิดเผยให้เหมือนเหมือนกัน

“เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก็คุยกันในฐานะคู่สัญญา ก็ทำงานกับกรุงเทพธนาคมมากกว่า 10 ปีแล้ว คงต้องอยู่ไปอีกเป็นเวลานาน วันนี้ทางบอร์ดได้เล่าให้ฟังหลายเรื่อง และพูดถึงประเด็นต่างๆ ที่เป็นข่าวอยู่ ก็สรุปสั้นๆ มีสื่อถามเยอะเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ผมต้องเรียนว่า ท่านประธานบอกว่าได้ให้ข้อมูลไปกับทางกทม.หมดแล้ว อยู่ที่กทม.จะวินิจฉัย ใช้ดุลพินิจว่า จะเปิดเผยข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ทางเราไม่ได้มีปัญหาในการเปิดเผยข้อมูล เพียงแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน เพราะรถไฟฟ้าในกทม. ก็มีหลายสาย และมีการแข่งขันกัน เท่าที่รถไฟฟ้าสายอื่นเปิดเผยอย่างไร เราก็ยินดีเปิดเผยเหมือนๆ กัน ไม่มีปัญหา “ นายสุรพงษ์ กล่าว

 

 

ประเด็นต่อมา ทางเคที จะมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาตัวเลขทั้งหลาย ซึ่งทางบอร์ดระบุว่า ทางด้านของ BTSC และเคที ได้มีการร่วมทำงานกันมากกว่า 10 ปี ซึ่งอาจมีข้อมูลในบางส่วนที่เปลี่ยนไป จึงได้ให้บริษัทที่ปรึกษาได้ทำข้อมูล ในการศึกษาคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 45 วันถึง 60 วัน จากนั้นจะเชิญ BTSC ร่วมหารืออีกครั้ง และระหว่างนี้ก็จะมีการหารือร่วมกันกับคณะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงในเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งขนาดนี้ยังไม่ได้รู้ในรายละเอียด แต่ที่ผ่านมา บีทีเอสเราก็พยายามทำอะไรที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ให้สอดคล้องกับระดับเทคโนโลยีใหม่ใหม่ พร้อมอธิบายให้รับทราบว่าด้วยว่า ในส่วนของระบบตั๋วร่วมทางด้านของบีทีเอส เป็นผู้เริ่มต้น การติดตั้งประตูกั้นชานชาลา เป็นต้น

ส่วนกรณีการเก็บค่าโดยสาร ได้ฝากทางเคที ไปหารือกับกทม.เพื่อให้มีข้อสรุปที่ชัดเจนเนื่องจากว่า ทางด้านของ BTSC จะต้องมีการเตรียมการทั้งในเรื่องของระบบ ซอฟต์แวร์ให้รองรับ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และป้ายต่างๆถึง 60 สถานี ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 30 วัน ส่วนจะเก็บค่าโดยสารในอัตราเท่าใดนั้นเป็นเรื่องของกทม.

ขณะเดียวกัน ในส่วนของคดีความที่เกิดขึ้นนั้น วันนี้ได้มีการหารือร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ประธานบอร์ด ไม่อยากให้รอ ถึงศาลตัดสินในคดีที่กำลังดำเนินการฟ้องร้องกันอยู่ เนื่องจากว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงอยากจะมีการหารือร่วมกันเรื่องตังเลข และอาจมีการชำระก่อน ถือเป็นเรื่องที่ดี

“เรื่องคดีความ ท่านประธานบอกว่า จริงๆ ท่านไม่อยากให้รอถึงศาลตัดสิน เพราะวันนี้เป็นคดีที่ฟ้องร้องกันอยู่ วันนี้ดอกเบี้ยมันเดินอยู่ ท่านก็พูด ก็อยากจะคุยกันเรื่องตัวเลข เรื่องอะไรทั้งหลาย อาจจะมีการชำระก่อนก็ได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี (มูลหนี้) ที่เราฟ้องไป ตอนนั้นเค้านับมูลหนี้ ณ วันฟ้อง เราฟ้องไปเดือนกรกฎาฯ ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราฟ้องคือ หมื่นสอง (1.2 หมื่นล้านบาท) แต่วันนี้ถ้าบวกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่าจะประมาณ 2 หมื่น(ล้านบาท) แล้ว อันนี้เฉพาะส่วนค่าจ้าง ทีนี้มีค่างานระบบติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล กลมๆ ก็ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยก็เดินอยู่เรื่อยๆ ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเศษๆ “ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าว

 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า หากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมาหารือด้วยก็พร้อมยินดี ซึ่งในการประชุมก็ไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องประเด็นนี้ ยืนยันหลังหารือไม่ได้มีเรื่องหรือประเด็นอะไรที่หนักใจ มองว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพียงแต่บริษัทมีความกังวลบ้างเนื่องจากว่า เป็นบริษัทเอกชน เมื่อถามถึงมูลหนี้ที่มีมากถึง 40,000 ล้านบาท บริษัทก็ต้องมีการกู้เงินเพื่อมาดำเนินธุรกิจ และปัจจุบัน ก็เริ่มตึง ก็อยากจะให้เร่งรัดเรื่องนี้

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ได้เปิดเผยถึงตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ปัจจุบัน รวมทั้งระบบจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 แสนรายต่อวัน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น