วันที่ 19 ก.ค.65 ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ออกเอกสารข่าวระบุว่า นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ชี้แจงถึงประเด็น “โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ว่า ตลอดระยะเวลาการให้บริการกับประชาชนชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 BTSC ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อสัญญาที่ทำไว้กับทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT และ กทม. อย่างเคร่งครัด แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา BTSC จะเคยประสบกับปัญหาสถานภาพทางการเงินอย่างหนัก จนต้องนำบริษัทเข้าฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากต้องรับภาระลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักทั้งหมด ซึ่งเป็นเพียงโครงการเดียวในประเทศไทยที่กำหนดให้เอกชนต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด รวมถึงงานโครงสร้างพื้นฐาน
1. BTSC แบกรับภาระค่าใช้จ่ายกว่า 5 ปี มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท
ในขณะนี้ BTSC ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จำนวนรวมกว่า 40,000 ล้านบาท อันเนื่องมาจากการไม่ได้รับชำระค่าจ้างจากการเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ซึ่งส่งผลให้การดำเนินธุรกิจประสบกับความยากลำบากมากขึ้นต้องมีการกู้เงินมาใช้จ่ายจำนวนมาก
2. BTSC ดูแลรับผิดชอบผู้โดยสาร 23 ปี โดยปรับค่าโดยสารเพียง 3 ครั้ง
อีกทั้งวิกฤติโควิด -19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมาก แต่ BTSC ก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดให้บริการ พร้อมดูแลผู้โดยสารในทุกพื้นที่สถานี และจัดให้มีขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสออกให้บริการอย่างเพียงพอ แม้รู้ว่ารายได้ที่เข้ามานั้น อาจจะไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ
ที่สำคัญ ตลอดระยะเวลาในการบริการตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ทาง BTSC ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารไปเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น และทุกครั้งที่ดำเนินการปรับค่าโดยสาร ก็เป็นอัตราที่ต่ำกว่าเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติจาก กทม. ทั้งสิ้น เพื่อต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน โดยเมื่อเปิดให้บริการช่วงแรก 23 สถานี ระยะทาง 23.5 กม. ในปี 2542 คิดอัตราค่าโดยสาร 10-40 บาท แต่เพดานค่าโดยสารสูงสุดที่ กทม. กำหนดไว้ให้คือ 15-45 บาท
และการปรับขึ้นค่าโดยสารทั้ง 3 ครั้ง ที่เกิดขึ้นนั้น แบ่งเป็น
-ครั้งที่ 1 ปี 2550 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 15 – 40 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 18.79 – 56.36 บาท
-ครั้งที่ 2 ปี 2556 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 15 – 42 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 20.11 – 60.31 บาท
-ครั้งที่ 3 ปี 2560 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 16 – 44 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 21.52 – 64.53 บาท