วันที่ 20 ก.ค.65 นายสุรมนต์ มีเมศกุล ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกิจการขนส่งมวลชนระบบรถไฟฟ้า ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้แทนรับเรื่อง โดยขอให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วพบว่า ข้อกำหนดเงื่อนไขในสาระสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ มีเจตนากีดกันบริษัทฯ ไม่ให้มีโอกาสเข้าแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาร้องทุกข์นี้ บริษัทฯ ได้มีการร้องเรียนเรื่องที่ไม่ถูกต้องนี้ยังผู้รับผิดชอบตามกฎหมายมาโดยตลอด แต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) บริษัทฯ จึงได้ซื้อเอกสารคัดเลือกโครงการและรวมกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติเตรียมยื่นข้อเสนอภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ระหว่างนั้น บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ (ITD) ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ รฟม. ขอให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกได้เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะใหม่
บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือร้องเรียนและขอให้มีการตรวจสอบไปยังผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่บริษัทฯ ร้องขอ โดยขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง เมื่อถึงกำหนดยื่นข้อเสนอ มีเพียงกลุ่มบริษัทเพียงสองราย คือบีทีเอสซี ของผู้กล่าวหา และบมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เท่านั้นที่ยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าแข่งขัน แต่ รฟม.กลับไม่ดำเนินการแข่งขันต่อไป และได้มีประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และนำประกาศยกเลิกดังกล่าวไปยื่นต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้จำหน่ายคดี
บริษัทฯ จึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีใหม่อีกคดีหนึ่ง โดยฟ้องขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกที่ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนรวมทั้งยกเลิกประกาศ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวน