คกก.มาตรา 36 ถกเครียด โยนรฟม.แจงประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม

คณะกรรมการฯ มาตรา 36 นัดประชุมสรุปปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลปกครองกลาง พิพากษา รฟม. ยกเลิกประมูลฯ มิชอบด้วยกฎหมาย หลังประชุมคณะกรรมการส่วนใหญ่ เลี่ยงตอบคำถาม ระบุผลประชุม ให้รอการชี้แจงจากรฟม. ขณะที่มีรายงานว่า คณะกรรมการฯ จะยังเห็นชอบให้รฟม. เดินหน้าให้บริษัทเอกชนยื่นซองประกวดราคาตามกำหนดเดิม วันที่ 27 ก.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ยกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่า รฟม. ที่มีคำสั่งและออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เนื่องจากมิชอบด้วยกฎหมาย ว่า ในส่วนของความคืบหน้านั้น จะต้องรอฟังผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ในวันนี้ ( 21 ก.ค.)

โดยตนเองในฐานะรัฐมนตรี มีหน้าที่หลังจาก คณะกรรมการฯ ม. 36 ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากตนเห็นว่า ให้มีการทบทวนก็จะสั่งให้ดำเนินการ แต่จะต้องรอรายงานจากคณะกรรมการ ม.36 ซึ่งคณะกรรมการฯ จะต้องทำหน้าที่ตามอำนาจที่มี

โดยเฉพาะการตัดสินใจว่า ขั้นตอนประกวดราคาครั้งใหม่ ซึ่ง รฟม. กำหนดเปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคา ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 จะเดินหน้าต่อหรือไม่ เนื่องด้วยคณะกรรมการม.36 ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลปกครองมาหารือร่วมกัน แต่จากรายงานที่ได้รับมาเบื้่องต้น ทางด้านของรฟม. ได้มีการหารือร่วมกับอัยการสูงสุดแล้ว ส่วนการยื่นอุทธรณ์ ยังคงดำเนินการตามหนังสือสั่งการของกระทรวงการคลัง ภายใน 30 วัน

ล่าสุด หลังใช้เวลาประชุมกว่า 4 ชั่วโมง ทีมข่าว TOPNEWS ได้ขอคำชี้แจงจากทางคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ปรากฏว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถาม หรือผลการประชุมเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ของรฟม. ได้พยายามกีดกันผู้สื่อข่าวไม่ให้สัมภาษณ์ คณะกรรมการฯ

มีเพียง ดร.ไกร ตั้งสง่า หนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ระบุว่า ก็รับทราบว่าศาลตัดสินว่ายังไง และเมื่อผู้สื่อข่าว ถามว่ามีแนวทางการดำเนินการต่อไปอย่างไร ดร.ไกร กล่าวว่า วันนี้วาระคือ รับทราบผลคำพิพากษา แต่ว่าอันนั้นก็เป็นเรื่องคณะกรรมการชุดเดิม ของผมเป็นชุดใหม่ รับทราบว่าเป็นอย่างนี้ ส่วนรายละเอียดผลการประชุมทั้งหมด ให้รอการชี้แจงอย่างเป็นทางการจากรฟม.

ทั้งนี้ มีรายงานว่าคณะกรรมการ มาตรา 36 ส่วนใหญ่ ยังเห็นชอบให้รฟม.ดำเนินการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้มตามกำหนดเดิม หรือ เปิดให้บริษัทเอกชนยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ต่อไป โดยอ้างว่าเนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองที่ผ่านมา ไม่ได้มีข้อห้ามให้รฟม.กลับไปใช้ทีโออาร์หรือหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 1 เพียงแต่ระบุการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ทีโออาร์ เป็นการกระทำมิชอบด้วยกฎหมาย จึงให้ยกเลิก รวมถึงรฟม.อยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองดังกล่าว

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ส่วนกรณีที่วานนี้(20 ก.ค.65) ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ล่าสุด ทาง รฟม. ได้ชี้แจง ดังนี้

– ประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 580/2564
ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ให้เพิกถอนมติและประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชน นั้น คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และปัจจุบัน รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 อยู่ระหว่างใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลห้ามคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ใช้เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 นั้น ศาลพิพากษาว่า ศาลไม่อาจมีข้อสังเกตตามข้ออ้างดังกล่าวได้ เนื่องจากมิใช่ประเด็นแห่งคดี ประกอบกับ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 354/2564 ไม่รับฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. กระทำการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

 

– ประเด็นการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามระบบข้อตกลงคุณธรรมด้วยทุกครั้ง ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอฯ ได้พิจารณาโดยอ้างอิงจากระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัติดังกล่าวจึงมีลักษณะเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่เป็นการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เม็กซิโก-แคนาดา-จีนประกาศสงครามการค้ากับสหรัฐ
ทรัมป์ไฟเขียวกำแพงภาษีแคนาดา เม็กซิโกและจีนแล้ว
สรุปผล 47 นายกอบจ. "เพื่อไทย" คว้าชัย 10 ที่นั่ง "ภูมิใจไทย" 9 สู้สูสี "ปชน." ได้แค่ 1 ที่
ผู้โดยสารดับยกลำจากเหตุเครื่องบินกู้ชีพตกที่สหรัฐ
ทบ.ร่วม สตช. ประสานเมียนมา ช่วยเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวฮ่องกง 1 ราย
พรรคปชน.ช้ำ! ส่งเลือกตั้งนายกอบจ.17 จังหวัด คว้าชัยแค่ลำพูน
รวมไทยสร้างชาติ คว้าชัยนายกอบจ. 5 จังหวัด
"นิด้าโพล" เผยคนกรุงฯส่วนใหญ่ ชี้ขึ้นฟรีรถไฟฟ้า-เมล์ขสมก.ลดฝุ่นไม่ได้ผล มาตรการรัฐขาดประสิทธิภาพ
"อดีตบิ๊กข่าวกรอง" ถามซุปเปอร์แมน เหนื่อยฟรีไหม ผลเลือกตั้งอบจ. "แดง-ส้ม" ไม่ใช่อย่างฝัน
ตร.รวบหนุ่มรุ่นพี่ คาบ้านพัก หลังหลอกรุ่นน้องวัย 17 ปี ออกทริปบางแสน ก่อนพาไปข่มขืน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น