ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 ที่วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ พระเทพวชิรญาณโสภณ (หลวงพ่อเยื้อนขันติพโล) เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธ) เจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร พร้อมคณะผู้สื่อข่าว สมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมาปฏิบัติธรรม ณ วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร นำโดย นางสาวกัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ นายกสมาคมฯ นางสาวธัญณีย์ ศรีวรเรืองชัย ที่ปรึกษาสมาคมฯ นางสาวนันทวัลย์ ชิดพลกรัง ที่ปรึกษาสมาคมฯ และนายสมเกียรติ อนันต์สรรักษ์ ผู้บริหาร บจก.เจเคซีไบค์ ฯ ผู้ผลิตรถจักรยานรายแรกของประทศไทย (สมญา เจ้าพ่อซาเล้ง) ได้นำข้าวสารและน้ำดื่มมอบให้กับหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน ณ ฐานปฏิบัติการช่องกระโดน บก.มว.(มว.ตชด.2143) กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 214 ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดนกัมพูชาประมาณ 3 กิโลเมตร เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่บริเวณตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา หลังจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจต่อยังฐานปฏิบัติการเขากระโดง-ช่องพริก และสำรวจเส้นทางรักษาป่าในโครงการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ พื้นที่ เกือบ 2 หมื่นไร่
หลังจากนั้นคณะกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวจังหวัดนครราชสีมา และผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันถวายอ่างล้างหน้าจำนวน 2 ชุดมูลค่า 6,100.- บาท แก่วัดสุรินทราวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นวัดสาขาของหลวงพ่อเยื้อนฯ
สำหรับพระเทพวชิรญาณโสภณ หรือ พระอาจารย์เยื้อน ขันติพโล พระผู้พิทักษ์ป่าแห่งแดนอีสานใต้ เข้าสู่เพศบรรพชิตตั้งแต่อายุ 20 ปี ที่วัดบูรพาราม จ. สุรินทร์ หลังจากนั้นจึงไปปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโณ ที่วัดป่าบ้านตาด ด้วยดวงจิตอันมุ่งมั่นที่จะศึกษาธรรมมะเพื่อธำรงพระศาสนาต่อไป ในปี 2518 เกิดเหตุการณ์รบพุ่งที่ตะเข็บชายแดนไทย กัมพูชา ด้านจังหวัดสุรินทร์ เขมรแดงเข่นฆ่าผู้คนล้มตายราวใบไม้ร่วง ทหารและชาวบ้านขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ค่ายสุรนารีจึงทูลขอพระภิกษุจากสมเด็จพระสังฆราชให้มาประจำค่ายทหารที่ชายแดนในโครงการ พระสงฆ์นำการทหารเพื่อความมั่นคง พระอาจารย์เยื้อนได้รับนิมนต์มายังสมรภูมิรบแห่งนี้ บนแผ่นดินอันร้อนระอุด้วยไฟสงคราม ภิกษุรูปนี้ใช้หลักเมตตาธรรม คำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนยามทุกข์ยาก จนกระทั่งสงครามสงบลง พระอาจารย์เยื้อนจึงออกเดินทางธุดงค์ต่อไป ปี 2532 พระอาจารย์ได้กลับมาที่บ้านจรัสอีกครั้ง และพบว่าที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ เงียบสงบ เหมาะกับการวิปัสนากรรมฐาน ในขณะนั้นก็มีชาวบ้านและนายทุนบางกลุ่มที่เข้ามาบุกรุกตัดไม้มีค่าหลายชนิดรวมไปถึงการล่าสัตว์ป่าที่มีอยู่มากทำให้พระอาจารย์เกิดความสังเวชใจ ต้องการที่จะให้ชาวบ้านเกรงกลัวต่อบาปและมีจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกิจที่สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างหนึ่งอันเป็นการไม่เพิกเฉยละเลยต่อธรรมชาติและสังคมโลก ท่านจึงตัดสินใจพำนักอยู่ที่นี่ และสร้างสถานปฏิบัติธรรมวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโรขึ้น บนพื้นที่ป่าเกือบ 2 หมื่นไร่ที่ส่วนใหญ่ถูกตัดโค่น ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พุทธอุทยาน ท่านได้เร่งซ่อมแซมปลูกป่าจนฟื้นคืนกลับอุดมสมบูรณ์ และใช้วิถีกุศโลบายแห่งธรรมป้องกันดูแลป่า ผนึกกำลังกับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังรักษามรดกป่าของแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้กลุ่มขบวนการค้าไม้มีค่าผู้ละโมบ จึงหาเหตุใส่ร้ายทำลายชื่อเสียงกล่าวหาว่าท่านต้องการยึดผืนป่านี้ไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จึงรวมตัวกันขับไล่ออกจากพื้นที่ ลอบยิง ทำร้ายหมายเอาชีวิต วางเพลิง วางยาพิษสารพัดวิธี แต่ด้วยจิตที่แน่วแน่ในโลกธรรม ท่านจึงรอดพ้นจากหมู่มารทั้งปวงและยืนหยัดอยู่ในวัตรปฏิบัติปฎิปทาอันเคร่งครัด.
ภาพ/ข่าว กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครราชสีมา