"วิกฤตเงินเฟ้อ" ธนาคารกลางยุโรปประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อ
ข่าวที่น่าสนใจ
“วิกฤตเงินเฟ้อ” ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000 เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.50% โดยอัตราดอกเบี้ยเดิมต่ำกว่า 0.50% นานถึง 9 ปี อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจากเดิม ECB ส่งสัญญาณว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพียง 0.25% ในเดือนกรกฎาคม
นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB อธิบายถึงการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยว่า เนื่องจาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจในยูโรโซนกำลังชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 8.6% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากค่าอาหาร เชื้อเพลิง และพลังงานพุ่งสูงขึ้น
ดังนั้น ECB จึงจำเป็นต้องประกาศขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้ลดลงเหลือ 2% โดยจะมีการติดตามอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง และหากจำเป็นก็อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในอนาคต
ทั้งนี้ ECB ได้ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาตั้งแต่ปี 2014 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาค หลังจากการเติบโตที่ชะลอหลายปี ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อ ไปก่อนหน้าแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้สหภาพยุโรปเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้ทำให้ค่าเงินยูโรแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง