สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ 3 มูลนิธิ

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 3 มูลนิธิ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปยังห้องประชุม อาคาร ๖๐๖ สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า ทรงเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน ๓ มูลนิธิ ประกอบด้วย มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญ ประกอบด้วย การติดตามผลการดำเนินงานของทั้ง 3 มูลนิธิ การพิจารณาแผนการดำเนินงานระหว่างเดือนสิงหาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2566 ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานของมูลนิธิให้เป็นที่ประจักษ์

มูลนิธิภูบดินทร์ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ และมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง การจัดตั้งมูลนิธิ ๓ มูลนิธิ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ ทั้ง ๓ มูลนิธิ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อสืบสานพระราชปณิธานในเรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนที่ความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ทำให้ประชาชนมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต โดยพื้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ (หมู่บ้านสาละวะ และหมู่บ้านไล่โว่) จังหวัดกาญจนบุรี เป็นชุมชนอยู่ติดชายแดน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ ต่อความมั่นคงของประเทศ และเป็นพื้นที่แหล่งมรดกโลกของประเทศไทยที่ควรได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างยั่งยืนเพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุล และรักษาต้นน้ำเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เมื่อทรงรับทราบถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ ๕ จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบปัญหาช้างป่าออกจากป่า มาสร้างความเดือดร้อนให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ฯ ดำเนินงานตามแผนแม่บทสร้างความสมดุลระหว่างคนและช้างป่า โดยแบ่งพื้นที่การดำเนินงานออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งอาหารช้างป่า ด้วยการทำโป่งและปลูกพืชอาหารช้างป่าและจัดทำแหล่งน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม พื้นที่แนวกันชน หรือจุดพักช้างเพื่อตรึงช้างให้ห่างจากชุมชน และเพื่อกำหนดเส้นทางการพาช้างกลับคืนสู่ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ด้วยการปลูกพืชสมุนไพร เพื่อเป็นแนวกันช้างตามธรรมชาติ รวมทั้งจัดทำระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า และพื้นที่ชุมชน มีหมู่บ้านคชานุรักษ์ 5 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องพฤติกรรมช้าง พัฒนาอาชีพ ให้แก่ชุมชนในเขตต่าง ๆ และสร้างระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัย

มูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเห็นว่าสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขัง ซึ่งก็คือประชาชนเช่นเดียวกัน ทรงเห็นว่าการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมถึงการได้รับความรู้ในการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง เป็นสิทธิของผู้ต้องขังที่ควรได้รับเท่าเทียมกับบุคคลภายนอกตามหลักมนุษยธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ริเริ่มโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติศาสน์ กษัตริย์ ขึ้น เพื่อเป็นการเติมเต็มสิทธิของผู้ต้องขังให้ได้รับการบริการทางสุขภาพเฉกเช่นประชาชนทั่วไปพร้อมทั้งส่งเสริมการมีสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทัศนคติที่ดี และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการคืนคนดีสู่สังคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“ราชทัณฑ์” แจงกรณีการพักการลงโทษ เป็นไปตามหลัก กม.ที่กำหนดไว้
บขส.จัดรถโดยสารกว่า 4,800 เที่ยว รถเสริมอีก 1 พันคัน รองรับปชช.เดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่
เซเลนสกี้เดือดรัสเซียระดมยิงวันคริสต์มาส
"นิพนธ์" ชี้ "กระจายอำนาจ" สร้างเข้มแข็งชุมชน สำคัญต่อการพัฒนาปท.ยั่งยืน นโยบายรัฐแจกๆไม่ใช่คำตอบ
"รมว.สุดาวรรณ" ลงพื้นที่สกลนคร เป็นประธานกิจกรรมศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว
"นพดล" แถลง 6 ข้อ ปม MOU44 ย้ำชัดไทยไม่เสียดินแดน
ระทึก เพลิงไหม้รถบัสปลดระวางเสียหาย 9 คัน เร่งหาสาเหตุที่แท้จริง
“อนุทิน” เปิดศูนย์ป้องกันอุบัติเหตุปีใหม่ 2568 คุมเข้ม 10 วันอันตราย กำชับตำรวจใช้มาตรการกฎหมายเคร่งครัด
เปิดยอดผู้เสียชีวิต เหตุ 'เครื่องบินอาเซอร์ไบจาน' โหม่งโลก พบรอดตายปาฏิหาริย์เพียง 25 ราย
ศาลรธน.มติเอกฉันท์ ตีตก 2 คำร้อง ปมกกต.จัดเลือกตั้งสว.ปี 66 โดยมิชอบ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น