วันที่ 24 ก.ค. 65 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง รัฐมนตรีคนไหนรอด เสียงโหวตนอกสภา กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 2,175 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22 – 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.7 รู้อยู่แล้วว่าจะอภิปรายอะไร ไม่มีอะไรใหม่ โจมตีกัน เสียดสีกันทางการเมืองและสถาบัน หวังทำลายความน่าเชื่อถือศรัทธาของคนไทย หาเสียงก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่ ร้อยละ 70.9 ระบุ มีแต่สาดโคลน เอาเรื่องส่วนตัวมาโจมตี เหมือนดูละคร น้ำเน่า ไม่ได้ประโยชน์ ร้อยละ 69.6 ระบุ เห็นฝ่ายค้านบางคนอภิปรายได้ดี รัฐบาลควรนำไปแก้ไข ร้อยละ 64.3 ระบุ เห็นชัดการเมืองไทย และหลักประชาธิปไตยไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มอำนาจผลประโยชน์และคนต่างประเทศ ร้อยละ 53.6 ระบุอื่น ๆ เช่น พรรคเล็ก พรรคใหญ่ต่อรองผลประโยชน์ มีทั้ง ดาวร่วง ดาวรุ่ง ไร้ค่ายสังกัด ประชาชนรู้ทัน เป็นต้น
ผลสำรวจพบด้วยว่า รัฐมนตรีที่ประชาชนวางใจให้ทำงานต่อ อันดับแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร้อยละ 61.1 รองลงมาคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 59.2 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 58.7 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 53.2 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้อยละ 52.1 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยละ 51.9 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 51.4 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานร้อยละ 50.8 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 50.5 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 50.3 และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 50.3 เท่ากัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.1 ระบุ ควรปรับคณะรัฐมนตรี หาคนเก่งมาร่วมงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องและความเดือดร้อนของประชาชนได้ดีกว่า ในขณะที่ ร้อยละ 30.9 ระบุ ไม่ควรปรับ เพราะ ทำงานดีอยู่แล้ว ปรับไปก็เท่านั้น ไม่มีประโยชน์ ยิ่งเกิดปัญหาขัดแย้งแก่งแย่งตำแหน่ง ใครจะเป็นอะไรไม่เกี่ยวกับชีวิต เป็นต้น