วันที่ 24 ก.ค. 65 พลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ใครทำให้บิ้กตู่อยู่มาจนจะครบ8ปีแล้ว ไม่ใช่ตัวลุงตู่เองแน่นอน
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ผ่านไป พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็น เป้าหมายหลัก ให้ฝ่ายค้านดาหน้าออกมาถล่มทุกวัน แต่ก็ไม่ระคายผิวครับ คุณโทนี่ เลยพลอยโดนหางเลขเหวี่ยงกลับให้สำลักเลือดเล่นด้วยผมจึงขอนำเรื่องเดิมๆมาเล่าให้ฟังอีกว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ถึง “อยู่ยงคงกระพัน” หนักหนา
ทหารนั้น เป็นองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้นทหารส่วนใหญ่ แม้จะมีค่านิยมที่คล้ายคลึงกันในเรื่องการรัก ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ และประชาชนแต่เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีสมาชิกมากกว่า ๔ แสนคน จึงทำให้บุคลากรในองค์กรมีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนประสบมา
ทหารเป็นองค์กรที่มีสถาบันการศึกษาของตัวเองและมีหลักสูตรเฉพาะทางในทุกขั้นตอนของการรับราชการ นอกจากนั้นนายทหารยังนิยมที่จะเพิ่มคุณวุฒิการศึกษาสายสามัญในระดับปริญญาโททางด้านสัมคมศึกษา(เป็นส่วนใหญ่) ซึ่งทำให้ผ่านการเรียนรู้และพูดคุยปัญหาทางการเมืองในชั้นเรียนมาแล้วในระดับหนึ่ง ดังนั้น “การเมืองจึงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวทหารสักเท่าไร”
อย่างไรก็ตามไม่ว่าทหารจะมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างไร แต่ทหารทุกคนจะต้องมีความผูกพันกับแนวคิดสำคัญที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการของเป็นทหารว่าการเมือง ต้องมีความสำคัญน้อยกว่าความมั่นคงของชาติ
ความมั่นคงแห่งชาติไทย คงไม่มีอะไรซับซ้อนเท่ากับของสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีหลากหลายมิติ ซึ่งสรุปได้เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่
(๑) รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน จึงจะได้รับความเคารพนับถือจากทหาร
(๒) รัฐต้องไม่ทุจริต
(๓) ทุกองค์กรภาครัฐต้องทำตามหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนโดยทหารจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีความเร่งด่วนอะไรเกิดขึ้น และ
(๔) องค์ประกอบสำคัญคือ “ต้องการให้ความเคารพต่อพระมหากษัตริย์”ซึ่งทรงเป็นจอมทัพไทย
จากภารกิจและหลักนิยมดังกล่าว จึงทำให้ทหารแตกต่างกว่าตำรวจและข้าราชการทั่วไป ที่ต้องทำงานรับใช้รัฐบาลและประชาชนตามหน้าที่ โดยทหารเป็นองค์กรของชาติ มีหน้าที่หลักในการปกป้องประเทศ รักษาเขตแดน อธิปไตย และรักษาความมั่นคงของประเทศ ในยามสงบ ทหารจึงไม่ใช่เครื่องมือของนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศโดยตรง แต่ทหารจะ”สนับสนุนรัฐบาล”
ในขอบเขตภารกิจทุกประการ
ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศอย่าง”ถูกต้องตามกฎหมาย” ทหารก็จะเข้าไปทำอะไรรัฐบาลไม่ได้เลย
ปัจจุบัน ก็มีหน่วยงานอีกหลายแห่งที่ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาลในลักษณะที่คล้ายคลึงกับทหาร เช่น อัยการ , ศาล และองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มักจะมีทิศทางการทำงานเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน มากกว่าผลประโยชน์ของรัฐบาล