กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง กับการประกาศนัดเซ็นสัญญาระหว่าง กรมธนารักษ์ กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด หลังจากนายประภาศ คงเอียด ลงนามในหนังสือ กำหนดให้มีการลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร 72 ปี กรมธนารักษ์
โดยวันลงนามสัญญาฯ กรมธนารักษ์ กำหนดให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เตรียมชำระเงินตามเงื่อนไขสัญญา ก้อนแรกกว่า 740 ล้านบาท ดังนี้
1. ชำระค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา เป็นเงินจำนวน 580,000,000 บาท
2. ชำระผลประโยชน์ตอบแทนรายปี (Fixed Fee) ปีที่ 1 เป็นเงิน 44,644,356 บาท มาชำระให้กรมธนารักษ์ในวันลงนามในสัญญาเช่าโครงการดังกล่าว
3. วางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เป็นเงินจำนวน 118,979,500 บาท
ถึงแม้ว่ากระบวนการทุกอย่างดูจะเร่งรัด เร่งรีบ แต่เมื่อย้อนกลับไป ผู้บริหารกรมธนารักษ์ ได้ย้ำมาตลอดว่า เตรียมทุกอย่างพร้อมไว้หมดแล้ว รอเพียงผลสอบ จากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ดำเนินการแต่งตั้ง เพื่อตรวจสอบทุกอย่างให้ชัดเจน โปร่งใส
กระทั่งหลังใช้เวลาตรวจสอบ ประมาณ 2 เดือน ที่ไม่มีการแถลงชี้แจงเป็นรูปธรรมใด ๆ นอกจากคำพูดของ นายอาคม ว่าได้ส่งกลับผลสอบไปให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นผู้พิจารณาดำเนินการต่อ และ นายสันติ อ้างว่า การตรวจสอบยืนยันว่าการประมูลถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง หลังจากนี้ เป็นหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ที่จะดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่อัยการได้มีข้อสังเกต 13 ข้อ เท่านั้น
ขณะเดียวกันต้องย้ำว่า เหตุการณ์ทั้งหมด มีความไม่ปกติ ซ่อนเร้นอยู่พอสมควร เพราะกรณีนี้ศาลปกครองยังไม่มีคำพิพากษา ชี้ชัดความผิด หรือ ถูก ของกระบวนการประมูลตั้งแต่ต้นที่ปรากฎว่า บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เป็นเอกชนที่ได้รับคะแนนสูงสุด แต่กรมธนารักษ์ ได้ยกเลิก แล้วเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข กระทั่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด กลับมาเป็นผู้ชนะการประมูล
ประเด็นสำคัญก็คือ ศาลปกครอง เพิ่งสั่งให้กรมธนารักษ์ ส่งข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประมูลท่อส่งน้ำ EEC ภายในวันที่ 7 ก.ค.2565 แต่กรมธนารักษ์ ไม่ได้ส่ง ศาลฯ จึงขยายเวลาให้อีก 30 วัน หรือมีกำหนดสิ้นสุดภายใน 7 ส.ค.2565 แต่แทนทีกรมธนารักษ์ จะรอให้กระบวนการต่าง ๆ สิ้นสุด กลับนัดหมาย บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง เดินหน้าเซ็นสัญญา โดยไม่สนใจผลคำพิพากษาของศาลปกครอง และเมื่อสอบถามเรื่องดังกล่าวกับ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กลับอ้างด้วยว่า ข้อมูลส่งไปหมดแล้วตั้งแต่ช่วงแรกๆ และศาลฯ ไม่ได้ข้อให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติม แต่อย่างใด ทำให้กรณีนี้มีความขัดแย้ง ชวนสงสัย ว่ามีเงื่อนงำอื่นใดหรือไม่ และถ้าศาลปกครองมีคำพิพากษาไม่เป็นคุณต่อกรมธนารักษ์ อะไรจะเกิดขึ้นกับการเซ็นสัญญาที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 ส.ค. 2565 นี้
อีกทั้งในการการอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 กรณีการประมูลท่อส่งน้ำ EEC ถือเป็นหนึ่งกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำมาซักฟอก นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และโยงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการปล่อยปะ ละเลย ให้มีการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งวันนี้ปมปัญหาทั้งหมดอยู่ในการพิจารณาของป.ป.ช.เรียบร้อยแล้ว ไม่นับรวมข้อสงสัยต่าง ๆ จากสาธารณชนทั่วไป ว่า ทำไมกรมธนารักษ์ มีขั้นตอนการประมูลไม่โปร่งใส ชอบธรรม จริงหรือไม่ และทำไมถึงต้องเร่งรีบเซ็นสัญญา ไม่รอคำพิพากษาศาลปกครอง ให้จบสิ้นกระบวนการ
เริ่มจาก นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุข้อกล่าวหาว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นประธานกรรมการที่ราชพัสดุ และเห็นชอบใช้วิธีคัดเลือกบริษัทเอกชนมาดำเนินโครงการระบบท่อส่งน้ำอีอีซี หรือ Market Sounding แทนวิธีเปิดประมูลทั่วไป เพื่อหนีหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุน
เท่ากับมีพฤติการณ์คัดเลือก ผู้รับผิดชอบโครงการมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท โดยไม่โปร่งใส เพราะรับทราบตั้งแต่ต้นว่ากรมธนารักษ์ เชิญแค่ 5 บริษัทเอกชนมาคัดเลือกมารับฟังเงื่้อนไขการประมูล ประกอบด้วย 1. บมจ.อีสวอเตอร์ 2. บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ 3. บมจ.อมตะคอร์ปอเรชั่น 4. บมจ.ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น และ 5. การประปาส่วนภูมิภาค
แต่ไม่เชิญบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ที่มีประสบการณ์เรื่องระบบส่งน้ำโดยตรงมาคัดเลือกด้วย อาทิ บจ.อควาไทย ของเครืออิตาเลี่ยนไทย หรือ บมจ. ทีทีดับบิว ของเครือ ช.การช่าง ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาต้องการเอื้อประโยชน์ช่วยเอกชนบางราย
ทั้งที่ระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือก 2534 กำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีการเปิดประมูลทั่วไปก่อน หากทำไม่ได้จึงจะใช้วิธีคัดเลือก และหากคัดเลือกไม่ได้อีก ถึงจะใช้วิธีเฉพาะเจาะจง และตามกฎกระทรวงการคลัง เรื่องการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ 2564 ข้อ 24 ระบุว่า การคัดเลือกเอกชนต้องใช้วิธีประมูล เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุเห็นสมควรให้ใช้วิธีคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูลตามข้อ 33
จากนั้น นายยุทธพงศ์ ได้เพิ่มเติมรายละเอียด ถึงความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น ว่า การคัดเลือกครั้งแรก มีหลักฐานยืนยัน บริษัท อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ชนะ แต่มีการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว ก่อนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกชุดใหม่ พร้อมแก้ไขเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ โดยการยกเลิกลักษณะต้องห้ามบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ข้อเสนอทางเทคนิค เพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย ที่ไม่มีประสบการณ์ระบบส่งน้ำเข้าร่วมคัดเลือกได้ เหมือนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
ยกตัวอย่าง วันที่ 8 ก.ย. 2564 มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกใหม่ คงเหลือเพียง นายยุทธนา หยิมการุณ เป็นประธานคนเดียว และ วันที่ 10 ก.ย. 2564 ออกประกาศเชิญชวนรอบ 2 พร้อมปรับเปลี่ยน TOR ในบางเงื่อนไข
เช่น 1.ยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอ ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา 2. ปรับลดทุนจดทะเบียนผู้ยื่นข้อเสนอจาก 500 ล้านบาทเป็น 300 ล้านบาท 3. ปรับลดหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อจาก 800 ล้านบาทเป็น 300 ล้านบาท 4. เปลี่ยนข้อกำหนดทางเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอ จาก ‘นิติบุคคลผู้มีอาชีพและประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจและหรือบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำ’ เป็น ‘นิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการจัดการน้ำ’
และพบด้วยว่ามีการปรับปรุงเกณฑ์ การพิจารณาของข้อเสนอใหม่ โดยจากเดิมเป็นระบบให้คะแนน เปลี่ยนมาเป็นระบบ ‘ผ่านกับไม่ผ่าน’ แต่ให้ซองที่ 3 ซึ่งเป็นซองเสนอราคา ยังคงใช้ระบบให้คะแนนโดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการคัดเลือกที่ต้องการผู้รับจ้างที่มีศักยภาพ เพราะตัดเรื่องของการนำข้อเสนอทางเทคนิคมาพิจารณาด้วย
และสุดท้ายผลการคัดเลือกรอบสอง ปรากฎว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งแพ้ประมูลในครั้งแรก กลับมาเป็นผู้ชนะประมูล ขณะเดียวกันยังเกิดขั้นตอนเร่งรัด ให้ขั้นตอนประมูลบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จบเสร็จสิ้นโดยเร็ว ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันที่นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ขณะนั้น เกษียณอายุราชการพอดีอีกด้วย