เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว “Top News” ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยว่า โรคฝีดาษวานรก่อนที่จะระบาดไปทั่วโลกนั้น เป็นเพียงโรคประจำถิ่นในเเอฟฟริกาตะวันตกและแอฟฟริกากลาง เดิมทีเป็นโรคระหว่างสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเท่านั้นจากนั้นแพร่ระบาดมาสู่คน จากการที่เราฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษทำให้โรคนี้หมดไป แต่เมื่อเราถอนวัคซีนออก ทำให้มีการแพร่ระบาดโรคฝีดาษวานรแบบปละปลาย จากนั้นเริ่มมีการแพร่ระบาดมาในยุโรปและเอเชียบ้าง และมาระบาดหนักในปีนี้ เดิมทีเราคิดว่าจะควบคุมโรคนี้ได้ ไม่คิดว่าจะมีการระบาดอีกในเวลาต่อมา เมื่อมีการระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตอนนี้ในกลุ่มชายรักชาย เพราะจาก 100 คนที่ติดเชื้อพบว่า 99% เป็นชาย และ 95% เป็นชายรักชาย แต่จากประวัติในแอฟริกาคนที่ติดเชื้อโรคนี้จะเป็นสตรีและเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นกามโรค เพราะไม่ได้ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังร้ายแรงประเภทหนึ่งที่จะติดต่อด้วยการเนื้อแนบเนื้อแบบแนบชิด อาจจะมีบาดแผลหรือไม่มีบาดแผลก็ได้ ดังนั้นไม่ใช่โรคของกลุ่มชายรักชาย หรือเกย์ แต่เพียงในไทยมีการแพร่ระบาดของคนในกลุ่มนี้ หากไปตีวงแบบนั้นจะกลายเป็นบาดแผลทางสังคม ทำให้เกิดปัญหาตามมา
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ในไทยตอนนี้ถือว่าการแพร่ระบาดยังควบคุมได้ง่าย หากเทียบกับโควิด-19 ที่เรายังสามารถตีกรอบการแพร่บาดได้ในกลุ่มชายรักชายในไทย หากได้รับความร่วมมือ การสืบสวนสอบสวนของโรคเราก็จะรู้ว่าคนกลุ่มนี้ไปที่ไหนและมีกิจกรรมอย่างไร น่าจะควบคุมได้ง่ายกว่า และคิดว่าไม่ถึงขั้นวิกฤตแบบโควิด-19 เพราะการแพร่ระบาดช้ากว่า ไม่ได้รวดเร็วรุนแรง โดยระยะฟักตัวของโรคใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ทำให้ระยะเวลากักตัวนานกว่า เพราะฉะนั้นหากรัฐอยากได้รับความร่วมมือ เราอาจจะต้องมีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจน เช่นหากใครติดอย่ากังวล เพราะรัฐจะดูแล มีการเยียวยา 1 เดือน เนื่องจากการไม่ได้ทำงาน 1 เดือนหรือกักตัวเอง 1 เดือน ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเยอะ ยกเว้นภาครัฐจะสนับสนุบการเยียวยาตรงนี้เพื่อทำให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่ติดเชื้อ ไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ตาม อีกทั้งจะเห็นชัดว่าการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร ไม่น่ากลัวเท่าโรคโควิด-19 แต่กรณีแรกที่เราเจอเป็นชาวไนจีเรียมีการไล่ล่าลักษณะเหมือนอาชญากร ทำให้สถานการณ์แย่ลง ดังนั้นทุกคนต้องถือว่าผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยประเภทหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ทำผิดหรือเป็นฆาตกร จะทำให้คนที่มีความเสี่ยงจะยิ่งหลบไปอีก