หลังกรมปศุสัตว์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศไทยพบโรค ASF เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ยังผลให้หมูในประเทศหายไปจากระบบ 50% เกิดภาวะเนื้อหมูขาดแคลน แต่กลายเป็นช่องทางให้ “ผู้ร้าย” หาประโยชน์บนความทุกข์ร้อนของคนไทยฉวยโอกาส “ลักลอบ” นำ “หมูเถื่อน” เข้ามาขายหวังฟันกำไรเป็นกอบเป็นกำจากราคาที่ปรับสูงขึ้นจากอุปทานที่หายไป
“หมูเถื่อน” ที่ลักลอบนำเข้าเหล่านี้ เป็น “ยาพิษ” ทั้งกับคนไทยและเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ก็เพราะว่าเนื้อหมูที่ต้นทางมาจากประเทศทางตะวันตก เช่น เยอรมัน ตุรกี บราซิล นั้น ยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงได้ ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ที่ประเทศไทยห้ามใช้มานานมากกว่า 20 ปี เพื่อคุ้มครองคนไทยให้มีอาหารปลอดภัยบริโภค และยังบั่นทอนแรงจูงใจของเกษตรกรไทยไม่เดินหน้าต่อนำหมูรุ่นใหม่เข้าเลี้ยง ด้วยหมูลักลอบนำเข้า เป็นตัวการทำลายเสถียรภาพราคาในประเทศ ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน เพราะเนื้อหมูนำเข้ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าจึงสามารถขายถูกกว่าหมูไทยได้
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะคุณสมบัติ และส่วนประกอบของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์
แม้ภาครัฐตรวจตราและจับกุมเข้มงวด “หมูเถื่อน” มาตั้งแต่ต้นปี เจาะกลุ่มห้องเย็นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น สมุทรสาคร สงขลา ชลบุรี ราชบุรี นครปฐม อุบลราชธานี มุกดาหาร เป็นต้น แต่ก็ยังมีเล็ดลอดเข้ามาต่อเนื่องทุกภูมิภาคแบบ “ตรวจเมื่อไหร่ก็เจอ” ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ของกลางถูกยึดและสืบหาผู้กระทำไปดำเนินคดี แต่ “ผู้ร้าย” ก็คือผู้ร้าย ที่หนีรอดไปได้ และยังคงใช้กลเม็ดสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลหรืออาหารสัตว์ (แบบเดิมๆ) หลบหลีกการตรวจสอบแบบไม่เกรงกลัวโทษทัณฑ์ ปริมาณที่เจอมีตั้งแต่หลัก 1,000 กิโลกรัม ถึง 1 ล้านกิโลกรัม ล่าสุดเจ้าหน้าที่จากกองสารวัตรและกักกัน ร่วมกับด่านกักกันสัตว์เพชรบุรี และด่านกักกันสัตว์นครปฐม ตรวจพบซากสัตว์ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 5 รายการ รวม 64,000 กิโลกรัม โดยไม่มีใบอนุญาตนำเข้า 3 รายการ และไม่ทราบแหล่งที่มา 2 รายการ ที่ห้องเย็นจังหวัดสมุทรสาคร และก่อนหน้านี้การจับกุมที่ห้องเย็นในจังหวัดอุบลราชธานี เช่นกัน