วันที่ 31 กรกฎาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง พรรคการเมืองไหน ยอดนิยม กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง(Experimental Survey) เพื่อลดความคลาดเคลื่อนแก้ปัญหาแหล่งความคลาดเคลื่อนจากผู้ถาม ผู้ตอบและเครื่องมือวัดและใช้เทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เกาะติดข้อมูลแวดล้อมในโลกโซเชียลลดปัญหาผลกระทบความน่าเชื่อถือของข้อมูล จำนวน 1,137 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 – 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลสำรวจพบว่า
ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 48.7 เป็นชายและร้อยละ 51.3 เป็นหญิงสอดคล้องกับสัดส่วนของประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวนทั้งสิ้น 52,173,604 คน อ้างอิงฐานข้อมูลประชากรกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 ในตัวอย่างนี้มีร้อยละ 7.9 อายุไม่เกิน 24 ปี ร้อยละ 33.1 อายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 42.9 อายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 16.1 อายุ 60 ปีขึ้นไป และเมื่อจำแนกเป็นอาชีพพบว่า ร้อยละ 4.3 เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 18.9 เป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.0 ค้าขายอิสระ ร้อยละ 32.8 เป็นเกษตรกร ร้อยละ 11.8 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 4.5 เป็นนักศึกษา ร้อยละ 5.0 เป็นพ่อบ้านแม่บ้านเกษียณอายุ และร้อยละ 1.7 อื่น ๆ และว่างงาน โดยจำนวนมากหรือร้อยละ 31.9 มีสิทธิเลือกตั้งในภาคอีสาน รองลงมาคือร้อยละ 26.2 ภาคกลาง ร้อยละ 16.5 ภาคเหนือ ร้อยละ 12.8 ภาคใต้และร้อยละ 12.6 กรุงเทพมหานคร
ที่น่าสนใจคือ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 26.9 จี้ติดตามมาไม่ห่างกันนักคือร้อยละ 22.3 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ อันดับสามคือ พรรคภูมิใจไทย ได้ร้อยละ 14.2 อันดับสี่คือ พรรคก้าวไกล ได้ร้อยละ 6.9 เบียดกันมากับพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้อยละ 6.8 ส่วนพรรคอื่น ๆ กระจายกันไปคือ พรรคเสรีรวมไทยได้ร้อยละ 2.4 พรรคกล้าร้อยละ 2.4 พรรคชาติไทยพัฒนาได้ร้อยละ 2.3 พรรคไทยสร้างไทยได้ร้อยละ 1.9 พรรคสร้างอนาคตไทย ได้ร้อยละ 1.6 พรรคไทยภักดีได้ร้อยละ 1.4 ที่น่าสังเกตคือ พรรครวมไทยสร้างชาติได้เพียงร้อยละ 0.4 และ พรรคเศรษฐกิจไทย ได้เพียงร้อยละ 0.3 ที่เหลือร้อยละ 10.2 ระบุอื่น ๆ เช่น ไม่เลือกพรรคไหนเลย และพรรคไหนก็เหมือนกัน ตามลำดับ