คลายทุกข้อสงสัย "ฝีดาษลิง" สามารถติดจากห้องน้ำได้ไหม? ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีคำตอบแล้ว
ข่าวที่น่าสนใจ
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจ Facebook เฉลยข้อสงสัยประชาชนเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง โดยระบุว่า เราสามารถติดเชื้อจากการนั่งชักโครกในห้องน้ำได้หรือไม่
คำถามนี้กระตุ้นให้มีการทบทวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการแพร่เชื้อของไวรัสระหว่างคนสู่คน โดยปกติแล้วผิวหนังของคนเราจะเป็นปราการด่านแรกและด่านสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อจากบรรดาจุลชีพ รวมทั้งไวรัสชนิดนี้จากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ สังเกตได้จากการปลูกฝีในอดีตที่ใช้เชื้อไวรัสฝีดาษม้า (vaccinia virus) (ซึ่งเดิมเราเข้าใจกันว่าเป็นเชื้อไวรัสฝีดาษวัว) มาปลูกฝี ต้องใช้วัตถุมีคม เช่น
- มีดปลายแหลม
- หรือเข็มมากรีด
- หรือขีดข่วนผิวหนังบริเวณต้นแขนให้เกิดแผล (เลือดไหลซิบ) ก่อนหยดหนองฝีจากสัตว์ลงไปเพื่อช่วยให้ไวรัสเชื้อเป็นในหนองฝีเข้าสู่ผิวหนังและเพิ่มจำนวนกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้
จากประสบการณ์ตรงในอดีตที่เคยถูกปลูกฝีร่วมกับเพื่อนในชั้น เพื่อนหลายคนปลูกฝีไม่ขึ้น (ไม่เกิดแผลเป็น) ต้องมาปลูกฝีซ้ำกันอีกรอบ แสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อไวรัสฝีดาษผ่านทางผิวหนังไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย เว้นแต่ผิวหนังบริเวณนั้นมีรอยถลอกหรือเป็นแผลสด ขนาดผิวหนังมีรอยถลอกหรือแผลไม่ลึกมากพอเชื้อไวรัสก็ไม่สามารถมาติดเราได้ จึงอาจพอตอบคำถามได้ว่าเป็นการ ยากมาก ที่เราจะติดเชื้อไวรัสฝีดาษ ลิงจากที่นั่งชักโครก เว้นแต่เรามีแผลสดที่ก้น
โรคฝีดาษ ลิง เป็นโรคติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีรอยถลอกหรือบาดแผลสด รวมทั้งสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุต่าง ๆ เช่น
- เยื่อบุในปาก
- เยื่อบุโพรงจมูก
- เยื่อบุดวงตา
- เยื่อบุช่องคลอด
- เยื่อบุทวารหนัก ฯลฯ
โดยผ่านทางนิ้วมือ อวัยวะเพศ หรือ วัตถุที่เป็นพาหะนำโรค (fomite) เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว เซ็กซ์ทอย (ที่กับช่องคลอดหรือกับรูทวาร) ที่ใช้ร่วมกันโดยยังมิได้ชำระฆ่าเชื้อ
ในปี ค.ศ. 1798 หรือประมาณ 224 ปีที่ผ่านมา นพ.เอดเวิร์ด เจนเนอร์ ชาวอังกฤษได้เผยแพร่วิธีปลูกฝี โดยผู้ที่เข้ารับการปลูกฝี จะถูกกรีดบริเวณต้นแขนให้เกิดแผลสดก่อนการหยดหนองฝีจากสัตว์ลงไป (vaccination) พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษ (smallpox) ได้ตลอดชีวิต
ในปี ค.ศ. 1720 หรือประมาณ 302 ปีที่ผ่านมา ในประเทศจีนและอินเดีย ได้มีการใช้หนองฝีของคนที่เป็นฝีดาษทำให้แห้ง บดเป็นผง และเป่าผ่านเข้าทางรูจมูก (mucosal vaccination) ของผู้คนที่ต้องการจะป้องกันตนเองจากการติดเชื้อฝีดาษในสมัยนั้น เรียกวิธีนี้ว่า Variolation ไวรัสจะเข้าไปในเยื่อบุทางเดินหายใจเพิ่มจำนวนในวงจำกัดและเกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันต่อการติดเชื้อไวรัสฝีดาษ
ในทั้งสองกรณีที่กล่าวพิสูจน์ว่า มนุษย์เราสามารถติดเชื้อฝีดาษผ่าน รอยถลอก บาดแผลสด และเยื่อบุ (mucosal tissue) ในร่างกายได้
ข้อมูล : Center for Medical Genomics
ข่าวที่เกี่ยวข้อง