วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวร่ายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเลี้ยงกุ้งกรามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งภาพรวมในอดีตเคยขายดีวันละหลายตัน เงินสะพัดวันละหลายล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ โดยเลี้ยงกันมากในเขต ต.บัวบาน ต.นาเชือก ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด และ ต.ลำคลอง ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ ได้รับน้ำสำหรับเปลี่ยนถ่ายในบ่อกุ้งจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จึงสามารถเลี้ยงกุ้งได้ตลอดปี ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน
นายสมยศ ภูสีดาว เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าบรรยากาศการเลี้ยงกุ้งและจำหน่ายกุ้งในช่วงนี้ซบเซามาก เริ่มจากปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องถึงยุคน้ำมันแพง ทำให้การค้าขายกุ้งฝืดเคืองและถือเป็นช่วงขาลงของอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามก็ว่าได้ และจากเดิมที่เคยจับจำหน่ายเดือนละ 4 ครั้งๆ ครั้งละ 200-300 ก.ก. ราคาจำหน่ายที่ปากบ่อราคา ก.ก.ละ 250 บาท ก็มีการปรับลดจำนวนและราคาลงเรื่อยๆ เหลือเดือนละครั้งๆละไม่กี่ ก.ก. เกษตรผู้เลี้ยงกุ้งบางรายถึงกับลดราคาขาย ก.ก.ละ 100-150 บาท เพื่อที่จะมีรายได้มาเป็นค่าอาหารกุ้ง และค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขณะที่ราคาอาหารกุ้งกลับสวนทางกัน มีการปรับขึ้นราคาเป็นระยะๆ ถุงละ 25 ก.ก.แต่ราคาขายถุงละ 1,000 บาท ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรับภาระหนักและขาดทุน
นายสมยศกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การเลี้ยงกุ้งยังมีปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งฝนตกและร้อนจัด จึงทำให้กุ้งในบ่อปรับตัวไม่ทัน เกิดการน็อคตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำในบ่อถูกแสงแดดแผดเผาจนร้อนจัด พอมีฝนตกลงมาตัวกุ้งก้ามกรามปรับตัวไม่ทันจึงเกิดการน็อคตาย ซึ่งการน็อคตายของกุ้งในช่วงนี้จะเป็นในลักษณะของการ “ตายจม” และเกิดการเน่าที่ก้นบ่อ โดยจะสังเกตเห็นซากกุ้งเน่าลอยขึ้นมาบ่อละ 10-20 ตัว พอนำอวนหรืออุปกรณ์สำหรับจับกุ้งสำรวจจำนวนกุ้งในบ่อ ก็จะพบกุ้งเน่าตายและเปื่อยยุ่ยเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นปัญหาซ้ำซากมาตลอด 2-3 ปี ที่ตลาดกุ้งซบเซาดังกล่าว
ด้านนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ตลาดกุ้งชะลอตัว จึงพบว่าเกษตรกรระบายกุ้งออกสู่ตลาดไม่ได้ ทำให้ผลผลิตกุ้งก้ามกรามที่มีขนาดตัวโตที่จะจับจำหน่าย ตกค้างในบ่อเป็นจำนวนมาก ผลเสียที่ติดตามมาอีกก็คือประชากรกุ้งในบ่อเกิดความหนาแน่น พอประสบกับสภาพอากาศแปรปรวน ทั้งร้อนจัดและฝนตก บางวันฝนตกแล้วอากาศร้อน จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งทำให้กุ้งอยู่ในภาวะเสี่ยงน็อคน็อคตายดังกล่าว
นายวุฒิชัยกล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งควรมีการบริหารจัดการกุ้งในบ่ออย่างถูกวิธี ทั้งลดปริมาณการเลี้ยงลง จัดแหล่งกักเก็บน้ำสำรองเพื่อเปลี่ยนถ่ายในบ่อกุ้งได้สะดวก จัดเตรียมเครื่องตีน้ำเพื่อสร้างออกซิเจนในบ่อกุ้งให้พร้อม ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด หมั่นตรวจสภาพสภาพน้ำ ใช้น้ำจุลินทรีย์หรือน้ำหมัก ปท.1 สาดให้ทั่วบ่อ ก็จะสามารถบรรเทาความเสียหายในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี.
ภาพ/ข่าว ชมพิศ ปิ่นเมือง ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.กาฬสินธุ์