วันที่ 2 ส.ค.65 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและท่าอากาศยาน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รฟม. ชี้แจงว่าการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและเดินรถไฟฟ้าตลอดทั้งสาย ครั้งที่ 2 หลังจากล้มประมูลครั้งที่ 1 มีลักษณะเปิดกว้าง เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่เป็นการกีดกัน หรือเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด คำชี้แจงของ รฟม. รับฟังได้หรือไม่ ? ต้องอ่านบทความนี้
เนื่องจากโครงการนี้ประกอบด้วยงานก่อสร้าง และงานให้บริการเดินรถไฟฟ้า ดังนั้น ผู้ยื่นประมูลจะต้องประกอบด้วยผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา การกำหนดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าและของผู้รับเหมาในการประมูลครั้งที่ 2 มีลักษณะเปิดกว้าง ไม่กีดกัน หรือเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดตามที่ รฟม. ชี้แจงจริงหรือไม่ ?
1. คุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้า
การประมูลครั้งที่ 1 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าในประเทศไทย ในขณะที่การประมูลครั้งที่ 2 ผู้ยื่นข้อเสนอไม่จำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ดังกล่าวในประเทศไทย สามารถอ้างอิงประสบการณ์จากต่างประเทศได้
ด้วยเหตุนี้ การกำหนดคุณสมบัติของผู้เดินรถไฟฟ้าในการประมูลครั้งที่ 2 จึงมีลักษณะเปิดกว้างมากกว่าการประมูลครั้งที่ 1
2. คุณสมบัติของผู้รับเหมา
การประมูลครั้งที่ 1 รฟม. ไม่ได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีผลงานด้านโยธาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด สามารถอ้างอิงผลงานจากต่างประเทศได้ อีกทั้ง ผลงานเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ สามารถอ้างอิงผลงานที่กำลังทำอยู่ได้ แต่การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีผลงานด้านโยธาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด และที่สำคัญ จะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ
ด้วยเหตุนี้ การประมูลครั้งที่ 2 จะทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอหาผู้รับเหมาที่มีผลงานด้านโยธาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด และจะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จมาร่วมประมูลได้ยาก เนื่องจากทั้งโลกมีผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติครบแค่ 2 รายเท่านั้น ได้แก่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ส่วนผู้รับเหมาอื่นจะต้องรวมตัวกันเพื่อทำให้มีคุณสมบัติครบ ซึ่งไม่ง่าย เพราะ รฟม. กำหนดไว้ว่า “โดยผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%” ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติบางรายไม่สามารถร่วมยื่นข้อเสนอได้