ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) พร้อมทีมวิศวกร เดินทางมาที่จุดเกิดเหตุชิ้นส่วนสะพานกลับรถถล่ม บริเวณถนนพระรามที่ 2 กิโลเมตรที่ 34 เพื่อตรวจสอบโครงสร้าง หาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ภายหลังการตรวจสอบ ดร.ธเนศ กล่าวว่า การตรวจสอบวันนี้ ได้เห็นเพียงแค่สภาพชำรุดคงค้าง แต่ไม่เห็นตัวคานหลักที่ร่วงลงมาแล้วและได้ถูกเคลียร์ออกไปแล้ว ทั้งนี้ เบื้องต้นสามารถคาดการณ์ถึงสาเหตุที่เป็นไปได้สูงว่า อาจเกิดจากขั้นตอนของการรื้อถอน ซึ่งโดยปกติการก่อสร้างทั่วไป จะต้องสร้างจากด้านล่างขึ้นด้านบน ส่วนการรื้อถอน ก็ต้องรื้อตรงกันข้ามกัน คือจากด้านบนลงด้านล่าง
โดยในกรณีของสะพานนี้ ลักษณะโครงสร้าง จะมีตัวคานหลักรูปตัวไอ และมีคานซอยเป็นตัวยึด 4 อัน แล้วปูพื้นทับลงไป ส่วนแบริเออร์แผงกันตก จะถูกนำมายึดกับบริเวณส่วนที่ยื่นออกมาของคานหลัก ซึ่งต้องติดตั้งส่วนนี้เป็นขั้นตอนท้ายๆ ดังนั้น ในขั้นตอนของการรื้อถอน ก็ควรจะต้องรื้อตัวแบริเออร์แผงกันตกนี้ก่อน แล้วค่อยไล่ลำดับการรื้อถอนกลับมา
แต่เท่าที่เห็นจากการตรวจสอบเบื้องต้น มีการรื้อส่วนที่เป็นตัวพื้นออกก่อนแบริเออร์ ทำให้น้ำหนักที่ลงบนตัวคานหลัก ไม่สมดุล โดยตัวคานที่เคยถูกทับด้วยพื้น ไม่มีน้ำหนักอะไรทับไว้แล้ว แต่ส่วนริมของคานที่ยื่นออกมายังต้องแบกรับน้ำหนักของแบริเออร์ ทำให้อาจเกิดการบิดได้ จนในที่สุดคานก็ร่วงลงมา ทั้งนี้ ข้อสันนิษฐานดังกล่าว เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุนั้นเกิดจากเรื่องใด ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นความประมาทได้หรือไม่ เพราะตนเองก็ไม่เห็นการทำงานที่แท้จริง ต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ข้อสันนิษฐานเป็นการคาดการณ์จากสภาพที่เห็นเท่าที่เหลืออยู่เท่านั้น
ส่วนการควบคุมงานโดยวิศวกร ปกติแล้วการก่อสร้างทุกที่จะต้องมีวิศวกรควบคุมอยู่แล้ว หากไม่มีถือว่ามีความผิด แต่กรณี ยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องตั้งขึ้นมาตรวจสอบต่อไป ส่วนสาเหตุเรื่องการเสื่อมสภาพของตัววัสดุนั้น ก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด โดยอุบัติเหตุอาจมีหลายสาเหตุประกอบกัน แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นเพราะการเสื่อมสภาพจากเหตุไฟไหม้หรือไม่