“ทักษิณ” ชนะคดี ศาลภาษีฯเพิกถอนการประเมินเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปฯ

"ทักษิณ" ชนะคดี ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้น บ.ชินคอร์ปฯ จำนวน 17,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2565 ศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษาคดีความแพ่งหมายเลขดำ ภ.220/2563 ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมสรรพากร , นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ ผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร , นายประภาส สนั่นศิลป์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด จำเลยที่ 3 นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ จำเลยที่ 1-4 ผู้แทนกรมการปกครองในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้น บ.ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ถือเอาการออกหมายเรียกนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว ในฐานะตัวแทนเชิด เป็นการออกหมายเรียกโจทก์ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรในฐานะตัวการ เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการประเมินต้องออกหมายเรียกไปยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถูกประเมินโดยตรง

แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินมิได้ออกหมายเรียกตรวจสอบโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับนิติกรรมที่ทำขึ้นไม่ก่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธ์ในหุ้นของบริษัทชินคอร์ป แต่อย่างใด โดยยังถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทดังกล่าวอยู่ โจทก์จึงมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มีผลทำให้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยยืนตามการประเมิน ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่เจ้าพนักงานประเมินและจำเลยที่ 2-4 กระทำไปตามอำนาจหน้าที่จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-4 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้ยังอยู่ในระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีคู่ความยื่นอุทธรณ์

สำหรับคดีนี้ เป็นคดีหลังจากที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง นายทักษิณ คดีร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ริบทรัพย์สิน 76,000,000,000 บาท พร้อมดอกผลที่ได้มาจากการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น ตกเป็นของแผ่นดิน

องค์คณะฯพิจารณาแล้วพิพากษาว่า นายทักษิณ ใช้อำนาจขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกนโยบายเอื้อประโยชน์บมจ.ชินคอร์ป ฯ ที่ครอบครัวถือหุ้นทำให้มีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ จึงให้ยึดทรัพย์สินในชื่อ นายทักษิณและครอบครัวที่ได้จากการขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปฯ จำนวน 46,000,000,000 บาทเศษ พร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน

ต่อมาช่วงปี 2549 – 2552 กรมสรรพากรได้ประเมินภาษีโอนหุ้นชินคอร์ป กับนายพานทองแท้ และเอม พินทองทา ทำนองว่าเป็นตัวแทนของนายทักษิณ จึงต้องเก็บภาษีจากคนทั้งสอง นำมาสู่การฟ้องร้องคดีนี้

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ย้อนเส้นทางเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ จากนายทักษิณ

-23 มกราคม 2549 นายทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็ก จำนวน 1,487 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 49.25 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 73,271 ล้านบาท โดยไม่เสียภาษี ซึ่งในขณะนั้นให้เหตุผลไว้ว่า ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายเพราะเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหุ้นดังกล่าวซื้อจากบริษัท แอมเพิล ริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท
-23 เมษายน 2550 มติ คตส. ให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีบริษัท แอมเพิลริช เนื่องจาก แอมเพิล ริช มีกรรมการบริษัทในขณะเกิดหนี้ภาษี คือ นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ในฐานะเป็นกรรมการบริษัท ต้องเสียภาษีในฐานะเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งเงินปันผล เงินได้จากการขายหุ้น และการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ และภาระปลอดหนี้

-26 กุมภาพันธุ์ 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายึดทรัพย์นายทักษิณจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท พร้อมชี้ว่านายทักษิณ คือ เจ้าของหุ้นชินคอร์ปตัวจริง

-29 ธันวาคม 2553 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้กรมสรรพากรงดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของนางสาวพิณทองทาและนายพานทองแท้จากแอมเพิลริชนอกตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากศาลฎีกานักการเมืองพิพากษาแล้วว่า เจ้าของหุ้นตัวจริงคือนายทักษิณ

-ประเด็นนี้ยังมีปัญหาเรื่องอายุความ เพราะหน่วยงานรัฐได้เห็นต่างเรื่องนี้ โดยกรมสรรพากรมองว่า อายุความหมดไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2555 เนื่องจากกรณีที่ผู้เสียภาษีมาเสียภาษีเงินได้ไม่ครบถ้วน ประมวลรัษฎากรให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกมาไต่สวนภายใน 5 ปี แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการออกหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนแต่อย่างใด

 

-13 มีนาคม 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม และเห็นว่ากรมสรรพากรเคยออกหมายเรียกนายพานทองแท้ และ นางสาวพิณทองทา ซึ่งเป็นนอมินีที่ถือหุ้นแทนนายทักษิณ มาไต่สวนเมื่อปี 2555 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 – 821 จึงให้ถือว่าเคยออกหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนแล้ว และทำให้อายุความขยายมาจนถึง 31 มีนาคม 2560 นอกจากนี้กรมสรรพากรยังสามารถประเมินภาษีนายทักษิณได้ โดยไม่ต้องออกหมายเรียกมาไต่สวนอีก และทันทีที่ส่งหนังสือประเมินให้นายทักษิณ “อายุความ” ก็จะหยุดลง

-28 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากรจึงนำหนังสือแจ้งประเมินภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปของนายทักษิณ รวมเป็นเงินกว่า 17,629 ล้านบาท ไปติดไว้บริเวณหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งเป็นบ้านพักของนายทักษิณ

-25 เมษายน 2560 ทีมกฎหมายของนายทักษิณจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี คัดค้านการประเมินภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เพื่อไทย” จัดเต็ม ชาวเชียงใหม่เรือนหมื่นแห่ฟัง “ทักษิณ” สว.ก๊องมั่นใจ พ่อใหญ่แม้วช่วยหาเสียงชนะแน่
ชาวบ้านทรุดก้มกราบ “ทักษิณ” ขอปรึกษาปัญหาชีวิต การ์ดรีบยกตัวออก
เกมแล้ว! หนุ่มแต่งรถประดับไฟสี ธีมคริสต์มาส ขับเฉิดฉายทั่วถนน ปรับฉ่ำๆ 2 ข้อหา
แจ้ง 4 ข้อหาหนัก 'อส.เมากร่าง' ยิงสนั่นกลางร้านข้าวต้ม ดับ 2 ศพ เปิดวงจรปิดอีกมุม เห็นวินาทีก่อเหตุชัด
ตร.ไซเบอร์ ขยายผลตามรวบ "ผู้จัดหาบัญชีม้า" แก๊งลวง "ชาล็อต" กว่า 4 ล้านบาท
“บิ๊กอ้วน”ซัดปาก! พวกกระหายสงคราม “บิ๊กปู” คอนเฟิร์ม “ว้าแดง” เรียบร้อยดี
เวียงแหงโมเดล! เยาวชนคนรุ่นใหม่ One Young World เครือซีพี ปักธง FIGHT หมอกควันชายแดนไทย-พม่า เรียนรู้-ชวนชุมชมร่วมลด PM 2.5
ทิพยประกันภัย จับมือ NT ลงนาม MOU พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุคดิจิทัล
กรมวิทย์ฯ บริการ มอบของขวัญปีใหม่ประชาชน 2568 ..ฟรี !! ฝึกอบรมเสริมทักษะด้าน วทน. ฟรีค่าธรรมเนียมยื่นขอการรับรองทุกขอบข่าย เสริมความสามารถของห้องปฏิบัติการไทยสู่สากล
"ณเดชน์-เบลล่า" ขึ้นแท่นดาราแห่งปี "หมูเด้ง" ข่าวเด่นแห่งปีของจริงกลบทุกกระแส

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น