โดยกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ นั้นเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือไมโครชิปซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่ และสนับสนุนภาคการผลิต ที่มีเทคโนโลยีสูงอื่น ๆ ที่สหรัฐกลัวว่าจะถูกครอบงำตลาดโดยคู่แข่งอย่างประเทศจีน โดยผ่านงบประมาณสนับสนุนถึง 5 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งงบส่วนหนึ่งจะใช้สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์
ทำเนียบขาวกล่าวว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทค นั้นเริ่มเห็นผล โดยมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับการผลิตชิปแล้วถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หนึ่งในนั้นคือแผนการลงทุนของบริษัท ไมครอน ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ในสหรัฐ ที่จะเพิ่มเม็ดเงินลงทุนอีก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อขยายกำลังการผลิตชิปในประเทศ ภายในปี 2030
ด้านประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวปราศรัยในทำเนียบขาวว่า การอัดฉีดงบประมาณจากกฎหมายว่าด้วยชิปดังกล่าว จะช่วยให้สหรัฐชนะการแข่งขันทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21ได้ ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยชิปนี้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้น ตามนโยบายสำคัญที่นายไบเดนได้กล่าวไว้ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่า จะทำให้สหรัฐฯกลับมาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมล้ำสมัย และจะสร้างฐานอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศขึ้นใหม่ เพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการจีนที่ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐ นอกจากนี้ไบเดนยังเร่งออกกฎหมายนี้เพื่อเรียกคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน โดยเขากล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 ล้านตำแหน่งในช่วง 6 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยังระบุว่า แม้ว่าเซมิคอนดักเตอร์จะถูกประดิษฐ์ขึ้นในสหรัฐฯ แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯมีกำลังการผลิตคิดเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของอุปทานทั่วโลก โดยราว 75 เปอร์เซ็นต์ของชิปที่สหรัฐใช้งานนั้น มาจากเอเชียตะวันออก